วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อสอบเก่าอาญา สมัย 56

สอบภาคหนึ่ง สมัยที่ 56 ปีการศึกษา 2546วันอาทิตย์ที่ 5 ตุลาคม 2546
ข้อ 1. นางดาวทำร้ายร่างกายนายเดือนจนได้รับอันตรายแก่กาย พันตำรวจโทเอกชัย พนักงานสอบสวน จึงจับกุมนางดาวเป็นผู้ต้องหาในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย นางดาวกลัวจะติดคุกจึงขอให้ พันตำรวจโทเอกชัย พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบเจ้าของคดีช่วยเหลือตนโดยเสนอเงินให้ห้าแสนบาท เพื่อเป็นค่าทำพยานหลักฐานให้อ่อนช่วยนางดาวให้พ้นผิด ทำให้พันตำรวจโทเอกชัยโกรธจึงแกล้งเปลี่ยนข้อหาเป็นพยายามฆ่าผู้อื่นแล้วทำสำนวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องเสนอพนักงานอัยการ ต่อมาพนักงานอัยการได้พิจารณาสำนวนแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานไม่พอฟ้องให้ศาลลงโทษ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้องนางดาว ให้วินิจฉัยว่า นางดาวและพันตำรวจโทเอกชัย มีความผิดฐานใดหรือไม่

ธงคำตอบ การที่นางดาว เสนอให้เงินจำนวนห้าแสนบาทแก่พันตำรวจโทเอกชัย พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีเพื่อเป็นค่าทำพยานหลักฐานให้อ่อนเป็นการขอให้ทรัพย์สินแก่เจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวน เพื่อจูงใจให้กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ นางดาวจึงมีความผิดฐานให้สินบนเจ้าพนักงานในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 167 ส่วนที่พันตำรวจโทเอกชัยเปลี่ยนข้อหาการกระทำความผิดของนางดาวเป็นข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ซึ่งเป็นข้อหาที่นางดาวจะต้องรับโทษหนักขึ้น เป็นกรณีเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษหนักขึ้น พันตำรวจโทเอกชัย จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมกระทำการในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคสอง

ข้อ 2. นายใหญ่ตระเตรียมวางแผนฆ่านายอ้วน โดยจะใช้อาวุธปืนสองกระบอกของตน แต่อาวุธปืนที่จะใช้ในการฆ่าได้ถูกคนร้ายลักไปก่อนโดยนายใหญ่ไม่ทราบ นายเล็กต้องการให้นายอ้วนตายเช่นกัน จึงแอบเอาอาวุธปืนของตนไปไว้ที่บ้านนายใหญ่โดยประสงค์ให้นายใหญ่ใช้ยิงนายอ้วนโดยนายเล็กไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้นมีผู้แอบเอากระสุนออกจนหมดแล้ว นายน้อยต้องการให้นายอ้วนตายเช่นกัน จึงเอาอาวุธปืนของตนไปไว้ที่บ้านนายใหญ่โดยประสงค์ให้นายใหญ่ใช้ยิงนายอ้วน ต่อมานายใหญ่เห็นอาวุธปืนทั้งสองกระบอกของนายเล็กและนายน้อยวางอยู่ นายใหญ่เข้าใจว่าเป็นอาวุธปืนสองกระบอกของตน นายใหญ่ได้หยิบอาวุธปืนของนายเล็กและเมื่อพบนายอ้วนได้ใช้อาวุธปืนกระบอกนั้นจ้องเล็งจะยิงนายอ้วน ให้วินิจฉัยว่า นายใหญ่ นายเล็กและนายน้อยมีความผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ การที่นายใหญ่ตระเตรียมวางแผนฆ่านายอ้วนเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289 (4) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1654/2532) เมื่อนายใหญ่เล็งปืนจ้องจะยิงนายอ้วนเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว นายใหญ่จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายอ้วน แต่เนื่องจากปืนกระบอกดังกล่าวนั้นไม่มีกระสุน การกระทำของนายใหญ่จึงไม่สามารถบรรลุผลอย่างแน่แท้ เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำ นายใหญ่จึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 (คำพิพากษาฎีกาที่ 980/2502) การที่นายเล็กแอบนำอาวุธปืนไปไว้ที่บ้านนายใหญ่ โดยประสงค์ให้นายใหญ่ใช้ยิงนายอ้วนและนายใหญ่ได้ใช้อาวุธปืนของนายเล็กยิงนายอ้วน เป็นการช่วยเหลือในการที่นายใหญ่กระทำความผิด แม้นายใหญ่จะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือนั้นก็ตาม นายเล็กย่อมเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่แท้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 81 และมาตรา 86 ส่วนที่นายน้อยนำอาวุธปืนของตนไปไว้ที่บ้านของนายใหญ่ แม้นายน้อยมีเจตนาช่วยเหลือในการที่นายใหญ่กระทำความผิด แต่เมื่อนายใหญ่มิได้ใช้อาวุธปืนของนายน้อยยิงนายอ้วน นายใหญ่ไม่ได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือของนายน้อย นายน้อยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของนายใหญ่

ข้อ 3. นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส นายชิตตกลงทำตาม แต่ก่อนที่จะไปฆ่า นายชิตเกิดป่วยกะทันหัน นายชิตจึงไปว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใส นายชมเกิดสำนึกผิดจึงวิ่งเข้ามายังที่เกิดเหตุและปัดปืน ทำให้ปืนตกลงไปในน้ำ ให้วินิจฉัยว่า นายชื่น นายชิต นายชม ต้องรับผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ นายชื่นรับจ้างนายชิตมาฆ่านายใส ถือว่ามีเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชื่นจ้องเล็งปืนจะยิงนายใสเป็นการลงมือกระทำความผิด อันเป็นการพยายามกระทำความผิด นายชื่นจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 นายชิตว่าจ้างนายชื่นให้ไปฆ่านายใสแทนตนจึงเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 เมื่อนายชื่นเล็งปืนจ้องจะยิงนายใสเป็นกรณีความผิดที่ใช้ได้กระทำลงแล้ว นายชิตต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 84 วรรคสอง นายชิตจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 นายชมว่าจ้างนายชิตให้ไปฆ่านายใส จึงเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 เช่นเดียวกับนายชิตแม้นายชิตมิได้ลงมือฆ่าด้วยตนเอง แต่ไปใช้นายชื่นอีกต่อหนึ่ง ก็ถือได้ว่าการที่นายชื่นพยายามฆ่านายใสเป็นผลมาจากการว่าจ้างของนายชม นายชมจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 โดยเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 84 อย่างไรก็ตามนายชมได้เข้าปัดปืนทำให้ปืนตกลงไปในน้ำ ถือว่าการกระทำของนายชื่นกระทำไปไม่ตลอดเพราะการขัดขวางของนายชมซึ่งเป็นผู้ใช้ตามมาตรา 88 นายชมจึงรับโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) เสมือนหนึ่งความผิดที่ใช้ยังมิได้กระทำลงตามมาตรา 84 วรรคสอง

ข้อ 4. นายแดงเป็นคนไทยอยู่ต่างประเทศทำหนังสือมอบอำนาจเป็นภาษาอังกฤษที่สถานทูตไทย ให้นายดำไปดำเนินการให้เช่าที่ดินของตนที่อยู่ในประเทศไทย แต่นายดำไม่สามารถหาผู้เช่าได้ มีแต่ผู้ต้องการซื้อ นายดำจึงได้ดำเนินการขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้นายเขียวโดยแปลหนังสือมอบอำนาจของนายแดงเป็นภาษาไทย โดยเพิ่มเติมข้อความในคำแปลว่า นายแดงมอบอำนาจให้นายดำดำเนินการขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้ด้วย แล้วนำหนังสือมอบอำนาจฉบับภาษาอังกฤษและคำแปลภาษาไทยไปยื่นต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขาย เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินสอบถาม นายดำก็ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า นายแดงมอบอำนาจให้นายดำให้เช่าหรือขายที่ดินแปลงดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานที่ดินได้จดถ้อยคำดังกล่าวไว้เป็นหลักฐานและดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมซื้อขายที่ดินให้โดยให้นายดำลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายด้วยจากนั้นนายดำได้ส่งเงินค่าขายที่ดินทั้งหมดให้นายแดงให้วินิจฉัยว่า นายดำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบ นายดำเป็นผู้ทำคำแปลหนังสือมอบอำนาจภาษาไทยขึ้นเอง คำแปลดังกล่าวจึงเป็นเอกสารของนายดำ ผู้ที่อ่านเอกสารดังกล่าวไม่มีใครเข้าใจว่าเป็นเอกสารที่นายแดงทำขึ้น เอกสารดังกล่าวจึงไม่ใช่เอกสารปลอมทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด นายดำไม่ได้เติมหรือตัดทอนข้อความหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในหนังสือมอบอำนาจฉบับภาษาอังกฤษของนายแดง ซึ่งเป็นเอกสารที่แท้จริง ทั้งนายดำไม่ได้ประทับตราปลอมหรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสารใด ๆ นายดำจึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 การที่นายดำให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินเป็นการแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ โดยมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐานว่านายแดงมอบอำนาจให้ขายที่ดินได้ เจ้าพนักงานที่ดินได้จดถ้อยคำดังกล่าวไว้และให้นายดำลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขาย บันทึกถ้อยคำของนายดำและหนังสือสัญญาซื้อขายเป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำขึ้นในหน้าที่ จึงเป็นเอกสารราชการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์สำหรับใช้เป็นพยานหลักฐาน และการกระทำของนายดำดังกล่าวน่าจะเกิดความเสียหายแก่นายแดง นายดำจึงมีความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267 และฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 4/2486)

ข้อ 5. ระหว่างที่นายกบกับนายเขียดเดินเล่นอยู่ในสวนจตุจักร นายกบเหลือบไปเห็นนายปลาทำนาฬิกาหล่นจึงรีบเดินเข้าไปเก็บ โดยนายเขียดไม่คาดคิดมาก่อนว่านายกบจะทำเช่นนั้น ส่วนนายปลาเมื่อเดินไปได้ไม่ไกลทราบว่านาฬิกาหล่นหายไปจึงเดินกลับมายังจุดที่นายกบและนายเขียดยืนอยู่ เมื่อนายกบเห็นนายปลาเดินกลับมาจึงได้ส่งนาฬิกาให้นายเขียดนำออกไปจากบริเวณนั้น เมื่อนายปลาเดินมาถึงสอบถามว่านายกบเห็นนาฬิกาหรือไม่ นายกบตอบว่าไม่เห็น แล้วมองตามหลังนายเขียดไป นายปลาเชื่อว่านายเขียดเอานาฬิกาไป จึงวิ่งตามไปร้องตะโกนว่า "ขโมย ๆ" นายเขียดจึงชกปากนายปลาอย่างแรงแล้วหนีไป ปรากฏว่านายปลาปากแตก ฟันหักสี่ซี่ ให้วินิจฉัยว่า นายกบและนายเขียดมีความผิดฐานใดบ้าง
ธงคำตอบ การที่นายปลาทำนาฬิกาหล่นหายแต่ได้ติดตามเอาทรัพย์คืนในทันที และนายกบก็ทราบดีว่านายปลากำลังติดตามหานาฬิกาอยู่ นาฬิกาจึงไม่เป็นทรัพย์สินหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคสอง นาฬิกายังอยู่ในความครอบครองของนายปลาผู้เป็นเจ้าของ นายกบเอานาฬิกาของนายปลาไปโดยทุจริต จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 สำหรับนายเขียดไม่เป็นตัวการในความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะขณะที่นายกบเดินเข้าไปเก็บนาฬิกา นายเขียดไม่คาดคิดมาก่อนว่านายกบจะทำเช่นนั้น แต่การที่นายเขียดช่วยพาทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ออกไปจากที่เกิดเหตุ โดยได้ทราบถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของนายกบ นายเขียดจึงมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 704/2493) การที่นายเขียดทำร้ายนายปลา แม้จะกระทำเพื่อยึดถือเอานาฬิกานั้นไว้และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม โดยไม่ขาดตอนจากการพานาฬิกาหลบหนีไป เป็นการรับของโจรแล้วทำร้าย มิใช่การลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ต่เมื่อนายปลาปากแตกและฟันหักถึงสี่ซี่ถือว่านายปลาได้รับอันตรายแก่กายแล้ว ดังนั้นนายเขียดจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 อีกฐานหนึ่ง (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 745/2515)

ข้อ 6. ขณะที่เด็กชายตุ๋ยอายุ 5 ปี กำลังวิ่งเล่นอยู่ที่สนามหญ้าในบริเวณรั้วบ้านของนางระเบียบซึ่งเป็นมารดา นายสังเวชซึ่งประสบภาวะการขาดทุนทางการค้าได้เข้าไปอุ้มเด็กชายตุ๋ยไปโดยเด็กชายตุ๋ยยอมไปด้วย จากนั้นนายสังเวชโทรศัพท์ไปถึงนางระเบียบมารดาของเด็กชายตุ๋ย ให้นำเงิน 500,000 บาทใส่ถุงกระดาษไปวางไว้ ณ โบสถ์แห่งหนึ่ง เมื่อได้รับเงินแล้วจะนำตัวเด็กชายตุ๋ยไปส่งคืน นางระเบียบจำเสียงนายสังเวชได้แต่ก็ตอบตกลงและนำเงินไปส่งมอบณ สถานที่นัดไว้ เมื่อได้ตัวเด็กชายตุ๋ยคืนมาแล้ว จึงนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับนายสังเวชได้พร้อมกับเงินของกลางให้วินิจฉัยว่า นายสังเวชมีความผิดฐานใดบ้าง
ธงคำตอบ การที่นายสังเวชเอาตัวเด็กชายตุ๋ยไป แล้วเรียกเงินจำนวน 500,000 บาท จากนางระเบียบผู้เป็นมารดา จึงจะส่งตัวเด็กชายตุ๋ยคืนให้ เงินดังกล่าวเป็นค่าไถ่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (13) นายสังเวชจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะที่นายสังเวชเอาตัวเด็กชายตุ๋ยไปนั้น เด็กชายตุ๋ยอยู่ในความปกครองดูแลของมารดา แม้เด็กชายตุ๋ยจะยินยอมไปด้วยก็ตามแต่เป็นการพรากเด็กชายตุ๋ยไปจากผู้ใช้อำนาจปกครอง เมื่อเป็นการเอาตัวไปเพื่อเรียกค่าไถ่ จึงเป็นการพรากเด็กไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรเพื่อหากำไร การกระทำของนายสังเวชเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 317 วรรคสามด้วย (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 5554/2545) ขณะที่นายสังเวชพรากเด็กชายตุ๋ยไปนั้น นายสังเวชได้เข้าไปในบริเวณสนามหญ้าภายในบริเวณรั้วบ้านของนางระเบียบซึ่งเป็นเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (4) โดยไม่มีเหตุอันสมควร นายสังเวชจึงมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 อีกฐานหนึ่งด้วย

ข้อ 7. บริษัทเอ จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนในประเทศบราซิล ซึ่งไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทเอ จำกัด ได้ตกลงรับจ้างซ่อมเครื่องจักรให้แก่บริษัทไทยแท้ จำกัด คิดค่าซ่อมและค่าวัสดุอุปกรณ์รวมเป็นเงินสิบล้านบาท สัญญาทำกันที่กรุงเทพมหานคร แต่การซ่อมกระทำกันที่ประเทศบราซิลทั้งหมด เมื่อซ่อมเสร็จและมีการส่งมอบเครื่องจักรแล้ว บริษัทไทยแท้ จำกัด ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่บริษัทเอ จำกัด ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกและตรวจสอบภาษีบริษัทไทยแท้ จำกัด แล้วเห็นว่าบริษัทไทยแท้ จำกัด มิได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในการชำระเงินให้แก่บริษัทเอ จำกัด จึงประเมินให้บริษัทไทยแท้ จำกัด ชำระภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย พร้อมเงินเพิ่มบริษัทไทยแท้ จำกัด ไม่เห็นด้วยกับการประเมิน จึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินชอบแล้วให้ยกอุทธรณ์ ให้วินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 70 บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษีโดยให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น ถ้าผู้จ่ายเงินได้มิได้หักและนำส่งหรือได้หักและนำส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินได้ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี กรณีตามปัญหาสัญญาระหว่างบริษัทไทยแท้ จำกัด กับบริษัทเอ จำกัด เป็นสัญญาจ้างทำของ เมื่อสัญญาจ้างทำของเป็นสัญญาที่มุ่งถึงผลสำเร็จของงานเป็นสำคัญ การที่จะถือว่า บริษัทเอ จำกัด ประกอบกิจการในประเทศไทยหรือไม่จึงต้องพิจารณาจากสถานที่ที่ให้บริการเป็นสำคัญ มิใช่พิจารณาจากสถานที่ทำสัญญาเหมือนสัญญาซื้อขาย เมื่องานซ่อมเครื่องจักรทั้งหมดกระทำที่ประเทศบราซิล จึงไม่ถือว่าบริษัทเอ จำกัด ประกอบกิจการในประเทศไทย แม้การจ่ายเงินรายนี้จะเป็นการจ่ายจากในประเทศไทย แต่เนื่องจากเงินค่าซ่อมและค่าวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (7) แห่งประมวลรัษฎากร เพราะเป็นเงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ มิใช่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) บริษัทเอ จำกัด จึงไม่ต้องเสียภาษีตามประมวลกฎรัษฎากรของไทย ฉะนั้น บริษัทไทยแท้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งตามมาตรา 70 ดังนั้น การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ 8. บริษัทเอมอิ่ม จำกัด ตกลงจ้างนางสาวสร้อยเป็นนักร้องประจำห้องอาหารค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท นางสาวสร้อยต้องตอกบัตรลงเวลาเริ่มทำงานและเลิกงาน หากไม่ตอกบัตรจะไม่ได้รับค่าจ้าง วันใดที่หยุดงานโดยไม่มีใบลาจะถูกตัดค่าจ้าง ระหว่างเวลาทำงานต้องอยู่ในสถานที่ทำงาน และต้องร้องเพลงตามที่หัวหน้าวงดนตรีกำหนดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 บริษัทเอมอิ่ม จำกัด สั่งให้นางสาวสร้อยไปร้องเพลงในงานวันเกิดของลูกค้าคนสำคัญในต่างจังหวัด นางสาวสร้อยจึงออกเดินทางจากบ้านพักเวลา 15.00 นาฬิกา เพื่อไปให้ทันเวลาเริ่มงาน 18.00 นาฬิกา ระหว่างการเดินทาง รถประจำทางที่นางสาวสร้อยโดยสารแล่นผิดทางตกถนน นางสาวสร้อยถึงแก่ความตาย มารดานางสาวสร้อยยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน บริษัทเอมอิ่ม จำกัด โต้แย้งว่า มารดานางสาวสร้อยไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเพราะนางสาวสร้อยเป็นนักร้อง ไม่มีฐานะเป็นลูกจ้าง ทั้งประสบเหตุอันตรายโดยยังมิได้ลงมือทำงานให้แก่นายจ้างให้วินิจฉัยว่า นางสาวสร้อยมีฐานะเป็นลูกจ้างหรือไม่ และประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานหรือไม่ และมารดานางสาวสร้อยจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่
ธงคำตอบ นางสาวสร้อยตกลงรับจ้างทำงานเป็นนักร้องประจำห้องอาหารให้แก่บริษัทเอมอิ่ม จำกัด โดยรับค่าจ้างเดือนละ15,000 บาท เมื่อนางสาวสร้อยต้องตอกบัตรลงเวลาเริ่มทำงานและเลิกงาน ต้องยื่นใบลาเมื่อหยุดงาน ต้องอยู่ในสถานที่ทำงาน และต้องร้องเพลงตามที่หัวหน้าวงดนตรีกำหนด แสดงว่านางสาวสร้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่งและระเบียบและอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของบริษัทเอมอิ่ม จำกัด นางสาวสร้อยจึงมีฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทเอมอิ่ม จำกัด (เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 3305/2545) นางสาวสร้อยซึ่งเป็นลูกจ้างออกเดินทางจากบ้านพักเพื่อไปร้องเพลงในงานวันเกิดของลูกค้าคนสำคัญในต่างจังหวัดตามคำสั่งของนายจ้าง และประสบอุบัติเหตุขณะเดินทาง แสดงว่าในวันดังกล่าวนางสาวสร้อยไม่ต้องเข้าไปทำงานที่ห้องอาหารของนายจ้าง แต่ต้องเดินทางไปทำงานยังสถานที่จัดงานวันเกิดของลูกค้าเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนายจ้างย่อมชี้ให้เห็นว่าลูกจ้างเริ่มลงมือทำงานแล้ว แม้จะยังไม่ถึงสถานที่ที่จะทำงานให้แก่นายจ้าง ก็ถือได้ว่านางสาวสร้อยประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 5(เทียบเคียงคำพิพากษาฎีกาที่ 4919/2538) เมื่อนางสาวสร้อยประสบอันตรายจนถึงแก่ความตาย มารดาของนางสาวสร้อย จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 มาตรา 20

ข้อ 9. ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสองว่านายเดชกระทำความผิดข้อหามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 15 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2)ประกอบมาตรา 66 วรรคหนึ่ง ลงโทษจำคุก 4 ปี ต่อมานายเดชยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รื้อฟื้นคดีดังกล่าวขึ้นพิจารณาใหม่ อ้างว่ามีพยานหลักฐานที่ยังไม่เคยนำมาแสดงต่อศาล ในวันนัดไต่สวน นายเดชยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ที่ว่าการมีไว้ในครอบครองซึ่งเมทแอมเฟตามีนจำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง ที่ว่าในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดและในคำร้องยังกล่าวด้วยว่า ก่อนยื่นคำร้องประมาณ 1 เดือน นายเดชวิวาทกับผู้ต้องขังอื่น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลงโทษนายเดชโดยตีตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้างเป็นเวลา 3 เดือน การกระทำของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ดังกล่าวเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนายเดชตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 ขอให้ศาลชั้นต้นส่งความเห็นของนายเดชไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264ให้วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นต้องส่งความเห็นของนายเดชทั้งสองกรณีไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่
ธงคำตอบ การส่งความเห็นของคู่ความในคดีว่า บทบัญญัติใดของกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นั้น มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ตอนท้ายบัญญัติว่า ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และมาตรา 264 วรรคสามบัญญัติว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ใช้ได้ในคดีทั้งปวง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงคำพิพากษาของศาลอันถึงที่สุดแล้ว แสดงว่าคดีนั้นต้องยังไม่ถึงที่สุด กรณีตามปัญหา คดีเดิมที่ศาลต้องใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 บังคับแก่คดีได้ถึงที่สุดไปแล้ว แม้นายเดชจะยื่นคำร้องขอให้รื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งอนุญาตต้องถือว่าคดีดังกล่าวยังคงเป็นคดีถึงที่สุดอยู่ ความเห็นของนายเดชที่ว่าพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 33 วรรคหนึ่ง จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 264 ศาลชั้นต้นไม่ต้องส่งความเห็นของนายเดชดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 263/2543) ส่วนที่นายเดชมีความเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ลงโทษนายเดชโดยตีตรวนที่ข้อเท้าทั้งสองข้างเป็นเวลา3 เดือน เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของนายเดช ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 นั้น มิใช่ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติใดของกฎหมายต้องด้วยมาตรา 6 กล่าวคือ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แต่เป็นข้อโต้แย้งว่า การกระทำของบุคคลขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญจึงไม่ต้องด้วยมาตรา 264 ศาลชั้นต้นไม่ต้องส่งความเห็นของนายเดชดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเช่นกัน (เทียบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2543)

ข้อ 10. นายสิงห์ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ให้ไปตรวจสอบสภาพอาคารของนายกันย์ จึงนำร้อยตำรวจเอกตุลย์ไปยังอาคารดังกล่าว นายกันย์ชกต่อยต่อสู้ขัดขวางไม่ให้บุคคลทั้งสองเข้าไปภายในอาคาร ต่อมาเจ้าพนักงานท้องถิ่นพบว่านายกันย์ก่อสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นและถึงแม้นายกันย์จะยื่นขออนุญาต แบบแปลนที่ยื่นขออนุญาตนั้นเจ้าพนักงานท้องถิ่นก็ไม่อาจอนุญาตให้ก่อสร้างได้ จึงมีคำสั่งให้รื้อถอนอาคาร แต่นายกันย์เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง เจ้าพนักงานท้องถิ่นเห็นว่าไม่มีวิธีบังคับอื่นใดนอกจากขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังนายกันย์ ส่วนร้อยตำรวจเอกตุลย์ ตั้งข้อหานายกันย์ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ต้องการหมายจับของศาลเพื่อจับกุมนายกันย์มาดำเนินคดีให้วินิจฉัยว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นและร้อยตำรวจเอกตุลย์ ต้องยื่นคำร้องต่อศาลใดเพื่อขอให้มีคำสั่งจับกุมกักขังและออกหมายจับ
ธงคำตอบ การที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้นายกันย์รื้อถอนอาคารเป็นคำสั่งทางปกครอง ดังนั้น การที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งจับกุมและกักขังบุคคลตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง (1) จึงเป็นมาตรการบังคับเพื่อให้บุคคลปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ถือเป็นกรณีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 เจ้าพนักงานท้องถิ่นจึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง (เทียบคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ 16/2545) ส่วนการที่ร้อยตำรวจเอกตุลย์ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับในคดีอาญานั้น เป็นขั้นตอนการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อนำไปสู่การลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา ซึ่งไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9ศาลที่มีอำนาจออกหมายจับคือศาลยุติธรรม ร้อยตำรวจเอกตุลย์จึงต้องยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรม (เทียบคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ (6/2545)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search