วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

ข้อสอบเก่าอาญา สมัย 57

ข้อ 1. นายต้นถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา นายต้นกลัวว่า ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุก จึงไปปรึกษานายส่งซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว ทำหน้าที่เก็บสำนวนคดีอยู่ที่ศาลนั้นซึ่งรู้จักกันมาก่อน นายส่งได้พูดว่ารู้จักผู้พิพากษาในคดีที่นายต้นถูกฟ้อง เคยเสนอสำนวนให้ท่านพิจารณา หากนายต้นให้เงินตน 100,000 บาท ก็จะขอให้ศาลพิพากษารอการลงโทษแก่นายต้น แต่นายส่งมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษา นายต้นจึงมอบเงินจำนวน 100,000 บาท แก่นายส่ง ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายต้น นายต้นจึงทราบว่านายส่งมิได้วิ่งเต้นให้ตนเลย เพราะนายส่งไม่เคยรู้จักผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน เหตุที่นายส่งแอบอ้างเพราะเข้าใจว่าคดีประเภทนี้ศาลมักจะรอการลงโทษอยู่แล้ว นายต้นจึงไปต่อว่านายส่งว่าทำให้ตนเสียหายต้องโทษจำคุกและขอเงินคืน นายส่งอ้างว่ามิได้กระทำความผิดแต่อย่างใดและไม่ยอมคืนเงิน 100,000 บาทให้ ให้วินิจฉัยว่า นายส่งจะมีความผิดฐานใดหรือไม่ และเงินจำนวน 100,000 บาท จะริบได้หรือไม่
ธงคำตอบ การที่นายส่งเรียกและรับเงินไปจากนายต้นเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนโดยอ้างว่าจะนำไปใช้จูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งผู้พิพากษาโดยวิธีการอันทุจริตให้กระทำการในหน้าที่พิพากษาคดีโดยรอการลงโทษแก่นายต้น ในคดีอาญาที่นายต้นถูกฟ้อง แม้จะมิได้ระบุชื่อผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีของนายต้นและไม่ได้ไปจูงใจผู้พิพากษาในการกระทำการในหน้าที่ให้เป็นคุณแก่นายต้นก็ตาม การกระทำของนายส่งก็ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7695/2543)ส่วนเงินจำนวน 100,000 บาท เป็นทรัพย์ที่ได้ให้ตามความในมาตรา 143 จึงต้องริบเสียทั้งสิ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 34 (1)

ข้อ 2. นายชมต้องการฆ่านายชัย จึงส่งจดหมายไปถึงนายชิตมือปืนรับจ้างให้ฆ่านายชัย ต่อมานายชมเปลี่ยนใจไม่ต้องการฆ่านายชัยโดยเพียงต้องการทำร้ายเท่านั้น จึงส่งจดหมายอีกฉบับหนึ่งถึงนายชิตมีใจความว่า ขอยกเลิกข้อความในจดหมายฉบับแรกทั้งหมดและให้นายชิตไปคอยดักทำร้ายนายชัย ปรากฏว่าจดหมายฉบับแรกหายกลางทางไปไม่ถึงมือนายชิต แต่นายชิตได้รับจดหมายฉบับที่สอง โดยไม่รู้เรื่องในจดหมายฉบับแรกเลย และได้ไปคอยดักทำร้ายนายชัยตามที่นายชมว่าจ้าง เมื่อนายชัยเดินทางมาถึง นายชิตซึ่งแอบอยู่ก็ตรงเข้าใช้ไม้ตีทำร้ายนายชัย เป็นเหตุให้นายชัยล้มลงศีรษะฟาดพื้นถึงแก่ความตายให้วินิจฉัยว่า นายชิตและนายชมมีความผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบนายชมไม่ต้องรับผิดฐานเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ในความผิดฐานฆ่านายชัยเพราะเมื่อจดหมายฉบับแรกหายกลางทางและนายชิตไม่รู้ข้อความใด ๆ ในจดหมายฉบับแรกเลย จึงยังไม่มีการใช้ให้ไปฆ่า นายชมจึงไม่ต้องรับโทษหนึ่งในสามของโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) แต่อย่างใดนายชิตไปดักทำร้ายนายชัยตามที่รับจ้างมา เป็นการทำร้ายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อนายชัยถึงแก่ความตายอันเป็นผลโดยตรงจากการทำร้าย นายชิตจึงมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคสองนายชมมีความผิดเช่นเดียวกับนายชิตโดยเป็นผู้ใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 แม้นายชัยจะถึงแก่ความตายแต่ก็เป็นการกระทำภายในขอบเขตของการใช้ ซึ่งผู้ใช้ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นนั้นด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 87

ข้อ 3. นายอ้วนกับนายผอมเคยมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันมาก่อน วันเกิดเหตุนายอ้วนไปท้าทายนายผอมโดยพูดว่า "มึงออกมาต่อยกับกูตัวต่อตัว ถ้าแน่จริง" นายผอมเดินออกจากบ้านไปพบนายอ้วนโดยพกอาวุธปืนสั้นไปด้วย นายอ้วนชักมีดออกมาเพื่อจ้วงแทงนายผอม จึงถูกนายผอมใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงในระยะ 2 เมตร ถูกนายอ้วนที่หน้าอกจำนวน3 นัด นายอ้วนได้รับอันตรายสาหัสให้วินิจฉัยว่า นายผอมมีความผิดฐานใดหรือไม่ และนายผอมจะอ้างเหตุว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกระทำโดยบันดาลโทสะได้หรือไม่
ธงคำตอบนายผอมใช้อาวุธปืนยิงในระยะ 2 เมตร ถูกนายอ้วนที่หน้าอก 3 นัด ถือว่ามีเจตนาฆ่านายอ้วน แต่นายอ้วนไม่ถึงแก่ความตาย นายผอมจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80การที่นายอ้วนไปพูดท้าทายและนายผอมออกไปพบนายอ้วนโดยพกอาวุธปืนสั้นไปด้วย แสดงว่านายผอมสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับนายอ้วน เป็นการเข้าสู่ภัยโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจ แม้นายอ้วนชักมีดเพื่อจ้วงแทงก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการทะเลาะวิวาทกัน นายผอมไม่มีสิทธิใช้อาวุธปืนยิงนายอ้วน โดยอ้างเหตุว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68การที่นายอ้วนพูดท้าทายให้นายผอมออกไปชกต่อยกันตัวต่อตัว ยังมิใช่เป็นการข่มเหงนายผอมอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมต่อนายผอม และแม้นายอ้วนชักมีดเพื่อจ้วงแทงก็เนื่องมาจากการที่นายผอมสมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้กับนายอ้วน จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3089/2541 และ 4686/2545)

ข้อ 4. นายดำเป็นลูกจ้างมีหน้าที่รับและจ่ายเงินของห้างหุ้นส่วนจำกัดแดงก่อสร้าง ซึ่งมีนายแดงเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ นายเขียวลูกหนี้ของห้างฯ สั่งจ่ายเช็คของธนาคารแห่งหนึ่งให้แก่ห้างฯ เพื่อชำระหนี้ โดยนำเช็คไปมอบให้นายดำ นายดำเห็นว่านายแดงไม่อยู่ที่ห้างฯ จึงลงลายมือชื่อของนายดำด้านหลังเช็คแล้วนำตราของห้างฯประทับกำกับลายมือชื่อของนายดำ เพื่อให้พนักงานธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อสลักหลังเช็คโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างฯ และจะนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารในวันรุ่งขึ้น แต่ปรากฏว่านายดำป่วยจึงไม่ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินตามที่ตั้งใจไว้ให้วินิจฉัยว่า นายดำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบเช็คที่นายเขียวสั่งจ่ายเป็นเอกสารที่แท้จริง การที่นายดำลงลายมือชื่อและประทับตราของห้างฯด้านหลังเช็คเป็นการเติมข้อความลงในเช็คซึ่งเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยไม่มีอำนาจ เมื่อได้กระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นคือธนาคาร และกระทำโดยมีเจตนาเพื่อลวงให้พนักงานธนาคารหลงเชื่อว่าเป็นการลงลายมือชื่อสลักหลังโดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนห้างฯ แม้นายดำยังไม่ได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว นายดำจึงมีความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264เช็คเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ จึงเป็นเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) นายดำจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265เช็คเป็นตั๋วเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 898 นายดำจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 266 (4) ด้วย (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2022/2531, 769/2540, 4073/2545)

ข้อ 5. นายแสบไม่พอใจนายรวยเจ้าหนี้เงินกู้ของตน จึงแอบเข้าไปลักทรัพย์ของนายรวยบริเวณแพริมน้ำซึ่งนายรวยใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แหวนเพชรมาหนึ่งวง ในขณะที่นายแสบจะลงจากแพได้เหลือบไปเห็นเงาคนกำลังแอบดูตนอยู่ นายแสบเชื่อว่าเป็นนายรวยและจำตนได้ เพราะตรงบริเวณนั้นมีแสงสว่างจากดวงไฟ แม้จะเป็นคืนข้างแรมก็ตาม เมื่อนายแสบกลับถึงบ้านแล้ว จึงทราบว่าเป็นแหวนของตนเอง ที่จำนำไว้แก่นายรวย นายแสบรู้สึกโกรธและเกรงว่าจะถูกนายรวยแจ้งความ นำเจ้าพนักงานตำรวจมาจับกุมตน จึงได้นำอาวุธปืนไปดักซุ่มยิงนายรวยจนถึงแก่ความตายให้วินิจฉัยว่า นายแสบมีความผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบการกระทำของนายแสบไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 เพราะแหวนเพชรเป็นของนายแสบเอง มิได้เป็นของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ทั้งข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่นายแสบเอาแหวนนั้นไป นายแสบไม่ทราบว่าทรัพย์ที่เอาไปนั้นเป็นทรัพย์อันตนได้จำนำไว้กับนายรวยเจ้าหนี้ ทั้งมิได้เอาแหวนไปโดยเจตนาเพื่อให้เจ้าหนี้ของตนได้รับความเสียหาย การกระทำของนายแสบจึงไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 แต่การที่นายแสบเข้าไปเคหสถานของนายรวยในเวลากลางคืน โดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ประกอบกับมาตรา 365 (3) นายแสบใช้อาวุธปืนดักซุ่มยิงนายรวยในเวลาต่อมา โดยคิดทบทวนมาก่อนและเพื่อปกปิดการกระทำความผิดและเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ นายแสบมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 289 (4)และ 289 (7) อีกด้วย

ข้อ 6. นายชายหลงรักนางสาวหญิง แต่นางสาวหญิงไม่สนใจ คืนวันหนึ่งนายชายเดินผ่านหน้าบ้านนางสาวหญิงเห็นนางสาวหญิงอยู่บ้านคนเดียวจึงเข้าไปหาเพื่อจะลวนลาม นางสาวหญิงตกใจร้องเรียกให้คนช่วย นายชายจึงขู่ไม่ให้ร้อง มิฉะนั้นจะฆ่าให้ตาย นางสาวหญิงกลัวจึงหยุดร้องแต่ในขณะนั้นเองสร้อยข้อมือที่นางสาวหญิงใส่อยู่ขาดตกลงบนพื้น นายชายเห็นสร้อยข้อมือของนางสาวหญิงตก จึงก้มลงหยิบแล้วหลบหนีไปให้วินิจฉัยว่า นายชายมีความผิดฐานใดหรือไม่
ธงคำตอบการที่นายชายเข้าไปในบ้านของนางสาวหญิงเพื่อจะลวนลามนั้นเป็นการเข้าไปในเคหสถานของนางสาวหญิงโดยไม่มีเหตุอันควร ส่วนการขู่มิให้ร้อง มิฉะนั้นจะฆ่าให้ตายถือเป็นการขู่ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของนายชายจึงเป็นการกระทำผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (3) ประกอบมาตรา 364 (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4066/2545) และการที่นายชายขู่ไม่ให้นางสาวหญิงร้องมิฉะนั้นจะฆ่าให้ตายนั้น ยังเป็นการขู่เข็ญให้นางสาวหญิงกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิตจนนางสาวหญิงผู้ถูกข่มขืนใจจำยอมต้องหยุดร้องซึ่งเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก แต่เนื่องจากการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายของนายชายดังกล่าว มิได้ประสงค์ต่อทรัพย์ คือสร้อยข้อมือของนางสาวหญิง นายชายเพิ่งมีเจตนาทุจริตเมื่อเห็นสร้อยข้อมือขาดตกลงบนพื้นอันเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นภายหลัง การที่นายชายเอาสร้อยข้อมือของนางสาวหญิงไปจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานในเวลากลางคืน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (8) วรรคสอง

ข้อ 7. ในเดือนเมษายน 2547 นายก้องซึ่งเป็นข้าราชการให้นายเกียรติเพื่อนของตนกู้ยืมเงินจำนวน 100,000 บาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย นายเกียรติตกลงชำระหนี้คืนภายในเดือนสิงหาคม 2547 และมอบสร้อยคอทองคำหนัก 5 บาท พร้อมพระเครื่องเลี่ยมทององค์หนึ่ง ให้นายก้องยึดถือไว้เป็นประกัน เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระ นายเกียรติไม่มีเงินชำระหนี้ จึงยกสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเลี่ยมทองดังกล่าวให้แก่นายก้องแทนการชำระหนี้ นายก้องชอบพระเครื่ององค์ดังกล่าว จึงตกลงรับไว้ ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2547 นายก่อเพื่อนอีกคนหนึ่งของนายก้องมาขอซื้อพระเครื่ององค์ดังกล่าว จากนายก้องในราคา 1,500,000 บาท นายก้องจึงขายพระเครื่ององค์ดังกล่าวให้นายก่อไป ให้วินิจฉัยว่า นายก้องจะต้องนำเงินที่ได้รับจากการขายพระเครื่ององค์ดังกล่าวไปรวมคำนวณกับเงินเดือนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2547 หรือไม่ และจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
ธงคำตอบ นายก้องได้พระเครื่องเลี่ยมทองมาจากการที่นายเกียรติซึ่งเป็นเพื่อนนำมาชำระหนี้แทนเงิน จึงเป็นการได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร เมื่อขายพระเครื่ององค์ดังกล่าวไป เงินได้ที่ได้รับจึงเป็นเงินได้จากการขายสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2547 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (9) นายก้องมิได้มีอาชีพในการซื้อขายพระเครื่อง การที่นายก้องขายพระเครื่ององค์ดังกล่าวให้แก่นายก่อเพื่อนของตน จึงไม่ใช่เป็นการขายสินค้าในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ นายก้องจึงไม่ใช่ผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (5) และมาตรา 77/2 (1) นายก้องจึงไม่ต้องนำเงินได้จากการขายพระเครื่ององค์ดังกล่าวไปเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

ข้อ 8. นายเรืองเป็นลูกจ้างของบริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด ทำงานตำแหน่งพนักงานบัญชี ณ สำนักงานใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มาได้ 4 ปี ได้รับค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท ต่อมาบริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด สั่งให้นายเรืองไปทำงานในตำแหน่งเดิม ณ สำนักงานสาขา จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเปิดทำการมากว่า 10 ปีแล้ว นายเรืองเห็นว่าต้องเดินทางไกลขึ้น จึงไม่ยอมไปทำงานที่สำนักงานสาขาตั้งแต่วันแรกที่รับคำสั่ง แต่ยังคงไปนั่งอยู่ที่ทำงานสำนักงานใหญ่ตลอดมา ต่อมาอีก 7 วัน บริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด จึงเลิกจ้างนายเรืองด้วยเหตุดังกล่าว ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งของบริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด ที่ให้นายเรืองไปทำงานที่สำนักงานสาขา เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมหรือไม่ และบริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่นายเรืองหรือไม่
ธงคำตอบบริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด มีสำนักงาน 2 แห่ง การที่บริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด นายจ้างมีคำสั่งให้นายเรือง ลูกจ้างไปทำงานในตำแหน่งเดิมที่สำนักงานสาขา อันเป็นสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่ก่อนแล้วโดยไม่ปรากฏว่าบริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด ได้ออกคำสั่งโดยกลั่นแกล้งนายเรือง คำสั่งที่ให้นายเรืองไปทำงานที่สำนักงานสาขาจึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม นายเรืองมีหน้าที่ต้องไปทำงานที่สำนักงานสาขาตามคำสั่งของบริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด เมื่อนายเรืองไม่ไปทำงานที่สำนักงานสาขา แม้จะยังไปนั่งอยู่ที่ทำงานสำนักงานใหญ่ก็ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร บริษัทรุ่งทรัพย์ จำกัด จึงเลิกจ้างนายเรืองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (5) (เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 39/2545)

ข้อ 9. นายเดช ผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดที่คดีขาดอายุความแล้ว ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่า จะมีการใช้กฎหมายฟอกเงินตรวจสอบทรัพย์สินของตนที่ได้มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน จึงไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาว่า พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หมวด 6 ในส่วนที่ให้พนักงานอัยการมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามความผิดมูลฐานตกเป็นของแผ่นดิน แม้การกระทำนั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับก็ตาม ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 เพราะเป็นกฎหมายอาญาที่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษต่อบุคคล บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ขอให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นมาตรการทางแพ่ง ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 32 จึงวินิจฉัยไม่ส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญ นายเดชยื่นหนังสือโต้แย้งว่าผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาทุกกรณี ไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจยุติเรื่อง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ขอให้วินิจฉัยว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจใช้ดุลพินิจวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ได้หรือไม่ให้วินิจฉัยว่า (ก) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจที่จะไม่ส่งเรื่องตามคำร้องครั้งแรกของนายเดชไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และ (ข) เมื่อนายเดชโต้แย้งและผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้เสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาหรือไม่ ธงคำตอบ(ก) ปัญหาว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจที่จะไม่ส่งเรื่องตามคำร้องครั้งแรกของนายเดชไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น รัฐธรรมนูญ มาตรา 198 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจึงมีอำนาจกลั่นกรองหรือใช้ดุลพินิจพิจารณาก่อนว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้น หากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาในเบื้องต้นแล้วเห็นว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ย่อมมีอำนาจไม่ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ (เทียบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 20/2546) (ข) ส่วนปัญหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 196 และกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 และมาตรา 198 จึงเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ได้ กรณีตามปัญหา ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาพิจารณาวินิจฉัยไปแล้วว่า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2546 หมวด 6 ไม่ได้มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย และนายเดชโต้แย้งว่าผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาไม่มีอำนาจเช่นนั้น ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เมื่อผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วจริง ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องรับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266

ข้อ 10. นางเยาว์เป็นเจ้าหน้าที่การเงิน จัดทำเช็คสั่งจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่นางวัยข้าราชการในสังกัด โดยที่นางวัยเคยขอเบิกและได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลจำนวนนี้ไปแล้ว แต่นางเยาว์จัดทำเช็คซ้ำโดยทุจริต นายยืนเป็นอธิบดีมีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็ค ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเงินตามเช็คโดยไม่ตรวจสอบความถูกต้อง นางเยาว์นำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารกรุงสุโขทัย ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง พนักงานธนาคารปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อจ่ายเงินตามเช็คให้แก่นางเยาว์โดยไม่ตรวจบัตรประจำตัวประชาชน กระทรวงต้นสังกัดต้องการดำเนินคดีแก่นางเยาว์ นายยืน และธนาคารกรุงสุโขทัย ให้ชดใช้ค่าเสียหายให้วินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ธงคำตอบกระทรวงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 นางเยาว์กับนายยืนเป็นข้าราชการในสังกัดและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ นางเยาว์ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จัดทำเช็คซ้ำและเบียดบังเอาเงินไป นายยืนปฏิบัติหน้าที่โดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจสอบความถูกต้องของเช็ค ทำให้กระทรวงได้รับความเสียหาย คดีสำหรับนางเยาว์และนายยืนเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแม้ธนาคารกรุงสุโขทัยจะเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แต่นิติสัมพันธ์ส่วนนี้เป็นการเบิกและถอนเงินตามเช็คอันเป็นความสัมพันธ์ทางแพ่งระหว่างธนาคารกับลูกค้า คดีสำหรับธนาคารไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (3) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 22/2546 และเทียบคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ 20/2545)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search