วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เช่าทรัพย์

มีคนสรุปมาจากคำบรรยาย สมัยไหนก็จำไม่ได้แล้ว เปิดเจอไฟล์เก่าในฮาร์ดดิสก์ ไม่ได้ระบุชื่ออาจารย์ผู้บรรยายไว้
เช่าทรัพย์
การเช่าทรัพย์ คือสัญญาที่มีบุคคลอยู่สองฝ่าย ฝ่ายแรกคือผู้ให้เช่า ฝ่ายที่สองคือผู้เช่า ทั้งสองฝ่ายต่างก็มีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่กันและกัน โดยฝ่ายผู้ให้เช่ามีหนี้ที่จะต้องให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์ที่เช่า ส่วนฝ่ายผู้เช่าก็มีหนี้ที่จะต้องชำระค่าเช่าเป็นการตอบแทน
การเช่าทรัพย์นั้น ผู้ให้เช่าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เช่า เพียงแต่มีสิทธิครอบครองหรือสิทธิใดๆก็ตามที่สามารถจะใช้สอยทรัพย์สินนั้นได้ก็พอ
การเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด มิฉะนั้นจะฟ้องร้องกันไม่ได้ หมายถึงว่า ถ้าคุณจะเช่าอสังหาริมทรัพย์กันโดยไม่ต้องทำสัญญากันก็ได้ แต่หากว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเบี้ยวขึ้นมาไม่ปฏิบัติตามสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่สามารถที่จะนำเรื่องการผิดสัญญานั้นมาฟ้องร้องบังคับคดีกันที่ศาลได้เท่านั้นเอง แต่ถ้ามีสัญญาต่อกันไว้แล้วเกิดฝ่ายใดเบี้ยวไม่ปฏิบัติตามสัญญา อีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลให้ฝ่ายที่ผิดสัญญานั้นปฏิบัติตามสัญญาหรืออาจจะเรียกค่าเสียหายได้
กำหนดเวลาในการเช่าอสังหาริมทรัพย์จะต้องไม่เกิน 3 ปี ถ้ามีการทำสัญญากันไว้เกิน 3 ปี จะมีผลบังคับกันได้เพียงแค่ 3 ปีเท่านั้น
กรณีที่ต้องการเช่าอสังหาริมทรัพย์กันเกิน 3 ปี นอกจากจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว จะต้องนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินด้วย จึงจะบังคับกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายก็บังคับไว้อีกว่าจะเช่ากันเกิน 30 ปีไม่ได้ หากเช่ากันเกิน 30 ปี ก็จะมีผลบังคับกันได้เพียง 30 ปีเท่านั้น และเมื่อครบ 30 ปีแล้วต้องมาทำสัญญากันใหม่
นอกจากนี้ยังสามารถที่จะกำหนดเวลาการเช่าว่าตลอดอายุของผู้ให้เช่าหรือผู้เช่าก็ได้ แต่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย
ผู้เช่าจะนำทรัพย์สินที่เช่าไปนั้นไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงต่อ หรือจะโอนสิทธิการเช่าให้แก่บุคคลอื่นไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้ในสัญญา มิฉะนั้น ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญาได้
กรณีที่ผู้เช่ามีสิทธินำทรัพย์สินที่เช่าไปให้ผู้อื่นเช่าช่วงได้นั้น กฎหมายบอกว่าผู้เช่าช่วงจะต้องรับผิดต่อผู้ให้เช่าเดิมโดยตรง หมายถึงว่า ผู้เช่าช่วงนั้นจะต้องผูกพันในหน้าที่และความรับผิดในการเช่าโดยตรงต่อผู้ให้เช่าเดิม มิใช่ผูกพันในหน้าที่และความรับผิดต่อผู้เช่า
ผู้ให้เช่าเดิม(เจ้าของทรัพย์สิน)----->เ ผู้เช่าทรัพย์ ----------->เ ผู้เช่าช่วง
มีบางกรณีที่ผู้เช่าช่วงได้ชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปแล้ว แต่ปรากฏว่าผู้เช่ามิได้นำเงินค่าเช่านั้นไปชำระให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม ผู้ให้เช่าเดิมก็เลยฟ้องขับไล่ผู้เช่าช่วง กรณีนี้ผู้เช่าช่วงไม่สามารถจะอ้างว่าตนเองได้ชำระค่าเช่าให้แก่ผู้เช่าไปแล้วขึ้นต่อสู้กับผู้ให้เช่าเดิมได้
หน้าที่และความรับผิดของผู้ให้เช่า
1. ผู้ให้เช่าจะต้องส่งมอบทรัพย์สินที่ให้เช่าแก่ผู้เช่าในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว
2. ต้องซ่อมแซมทรัพย์สินที่เช่าในระหว่างการให้เช่า และรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ผู้เช่าเสียไปเพื่อรักษาทรัพย์สิน เว้นแต่ค่าใช้จ่ายเพื่อบำรุงรักษาตามปกติและเพื่อซ่อมแซมเพียงเล็กน้อย
3. ถ้าผู้ให้เช่าส่งมอบทรัพย์สินที่เช่า ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การที่ผู้เช่าจะใช้เพื่อประโยชน์ที่เช่ามา ผู้เช่าก็มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
หน้าที่และความรับผิดของผู้เช่า
1. จะต้องใช้ทรัพย์สินที่เช่าตามข้อตกลงในสัญญา หรือตามประเพณีนิยมปกติ
2. จะต้องสงวนทรัพย์สินที่เช่า เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไปที่ใช้สอยทรัพย์สินของตนเอง หมายถึงว่าถ้าบุคคลทั่วไปใช้ความระมัดระวังในการใช้ทรัพย์สินนั้นเช่นไร ก็จะต้องใช้ทรัพย์สินที่เช่าให้มีลักษณะเดียวกัน มิใช่ว่าเห็นเป็นทรัพย์สินที่เช่ามิใช่ของตนจึงใช้โดยไม่ดูแลรักษาปล่อยให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน และจะต้องบำรุงรักษารวมทั้งซ่อมแซมเล็กน้อยด้วย
3. จะต้องยอมให้ผู้ให้เช่าหรือตัวแทนของผู้ให้เช่าตรวจดูทรัพย์สินที่เช่านั้นเป็นครั้งคราว ในเวลาและระยะอันสมควร
4. หน้าที่ในการชำระค่าเช่า
5. ผู้เช่าจะทำการดัดแปลงหรือต่อเติมทรัพย์สินที่เช่านั้นมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่าก่อน
6. เมื่อสัญญาได้เลิกกันหรือมีเหตุให้สัญญานั้นระงับไป ผู้เช่าจะต้องส่งคืนทรัพย์สินที่เช่าในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้ว เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินนั้นมิได้มีการซ่อมแซมมาตั้งแต่ก่อนเช่าแล้ว
7. จะต้องรับผิดในความสูญหายหรือบุบสลายอันเกิดแก่ทรัพย์สินที่เช่า เพราะความผิดของผู้เช่าหรือบุคคลซึ่งอยู่กับผู้เช่า หรือของผู้เช่าช่วง
ความระงับแห่งสัญญาเช่า
กรณีที่สัญญาเช่ามีกำหนดเวลา สัญญาเช่าจะระงับไปเมื่อถึงกำหนดเวลาตามสัญญา โดยที่ผู้ให้เช่าไม่ต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่า ฉะนั้น เมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาแล้วผู้เช่าไม่ยอมออกไป ผู้ให้เช่ามีสิทธิฟ้องขับไล่ได้ทันที แต่ถ้าครบกำหนดเวลาตามสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่ายังอยู่ต่อและผู้ให้เช่าก็มิได้ทักท้วง กรณีเช่นนี้จะถือว่าเป็นการทำสัญญาเช่ากันใหม่ต่อไปแบบไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งการบอกเลิกสัญญาเช่าแบบไม่มีกำหนดระยะเวลานี้ ผู้ที่บอกเลิกจะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน
กรณีที่ไม่มีกำหนดเวลาในการเช่า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาในขณะเมื่อสุดระยะเวลาชำระค่าเช่าได้ทุกระยะ แต่ต้องบอกกล่าวให้รู้ตัวก่อนชั่วกำหนดเวลาชำระค่าเช่าระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย แต่ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากว่า 2 เดือน
ตัวอย่าง นาย ก. เช่าบ้านนาย ข. อยู่ มีกำหนดชำระค่าเช่าภายในวันที่ 1 ของทุกๆเดือน เมื่อวันที่ 31 มิถุนายน 2544 นาย ก. ต้องการบอกเลิกสัญญาเช่า จึงนำค่าเช่าไปชำระให้แก่นาย ข. ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2544 และบอกเลิกสัญญาเช่ากับนาย ข. ในวันนั้น การบอกเลิกสัญญาของนาย ก. นี้จะยังไม่มีผลทันที แต่จะมีผลเป็นอันเลิกกันก็คือวันที่ 1 สิงหาคม 2544 ถ้าพูดง่ายๆก็คือต้องบอกเลิกสัญญาล่วงหน้าอย่างน้อย 1 เดือน
ส่วนกรณีที่ชำระค่าเช่ากันเป็นรายสามเดือน หกเดือน หรือหนึ่งปี ก็บอกเลิกสัญญากันล่วงหน้าสัก 2 เดือนก็ใช้ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องบอกเลิกสัญญาเช่ากันล่วงหน้าเป็นสามเดือน หกเดือน หรือหนึ่งปี
การบอกเลิกสัญญานั้น บางครั้งในทางปฏิบัติก็มิได้ทำกันตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ก็ไม่มีความผิดอะไร เพียงแต่ถ้ามีปัญหากันจนมีการฟ้องศาลแล้วละก็ ศาลจึงจะนำวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้มาชี้ผิดชี้ถูก
สัญญาเช่าเป็นอันระงับไป ถ้าทรัพย์สินที่เช่านั้นสูญหายไปทั้งหมด
การโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เช่าไม่เป็นเหตุให้สัญญาเช่านั้นระงับไป
ผู้ที่รับโอนนั้นจะต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าที่มีต่อผู้เช่า สิทธิและหน้าที่ที่รับไปนั้น จะต้องเป็นสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเท่านั้น ข้อตกลงอย่างอื่นต่างหากจากการเช่าย่อมไม่โอนตามไปด้วย
ผู้รับโอนที่จะต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ไปนั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการทำสัญญากันโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน หากเป็นกรณีที่ตกลงเช่ากันโดยปากเปล่า สิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าย่อมจะไม่โอนไปยังผู้รับโอน อายุความ ผู้ให้เช่าจะฟ้องผู้เช่าเกี่ยวกับสัญญาเช่านั้น จะต้องฟ้องภายในเวลาหกเดือนนับแต่วันที่ผู้เช่าส่งคืนทรัพย์สินที่เช่า
หลักกฎหมายเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินนั้น เป็นกฎหมายที่มีบทบังคับว่าเจ้าหนี้ หรือผู้ให้กู้ จะต้องมีเอกสารหลักฐานการกู้เงินไว้ โดยให้ลูกหนี้หรือผู้กู้ลงลายมือชื่อไว้ในหลักฐานนั้น มิฉะนั้น ผู้ให้กู้อาจจะต้องสูญเงินไปได้ เนื่องจากข้อบังคับของกฎหมาย ซึ่งเขียนไว้ว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่า 50 บาทขึ้นไป ต้องมีหลักฐานการกู้ยืมเงินและลงลายมือชื่อผู้ที่ต้องรับผิดไว้ จึงจะสามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้ ส่วนลูกหนี้ เมื่อนำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้แล้ว จะต้องให้เจ้าหนี้ทำหลักฐานการรับเงินไว้ มิฉะนั้น หากถูกฟ้องขึ้นมา จะไม่มีหลักฐานการชำระเงินแสดงต่อศาล ผลก็คือจะต้องชำระหนี้เป็นรอบที่สอง โดยไม่มีข้อโต้แย้ง
อีกอย่างคือ หนี้เงินกู้นั้น ถ้ามีมูลหนี้มาจากสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายละก็ ไม่สามารถนำมาฟ้องร้องกันได้ เช่น เป็นหนี้จากการพนันแล้วเขียนสัญญาเงินกู้ไว้ เป็นต้น
หากคุณอยู่ในฐานะเหล่านี้ คุณมีสิทธิและหน้าที่แค่ไหน
เมื่อคุณเป็นเจ้าหนี้
หากวันนี้คุณอยู่ในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ หรือกำลังจะเป็นเจ้าหนี้ สิ่งที่คุณจะต้องมีหรือต้องทำก็คือ สัญญาเงินกู้ ซึ่งสัญญานี้คุณจะเขียนขึ้นเอง หรือจะไปซื้อตามที่มีขายในท้องตลาดก็ได้ แต่ประเด็นสำคัญของสัญญาอยู่ตรงที่ เมื่ออ่านข้อความในสัญญาแล้ว จะต้องจับใจความว่า ใครเป็นผู้กู้ กู้ไปเท่าไร และมีการลงลายมือชื่อของผู้กู้ไว้ด้วย เพียงเท่านี้คุณก็สามารถที่จะนำไปฟ้องร้องบังคับคดีได้แล้ว ส่วนเรื่องอื่นๆคุณอาจจะเพิ่มเติมไปได้ เช่น
เรื่องอัตราดอกเบี้ย ในเรื่องดอกเบี้ยนี้ กฎหมายให้สิทธิคุณไว้ที่อัตราร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น (ยกเว้นพวกที่เป็นธนาคารหรือสถาบันการเงิน) หากคุณเรียกเกินกว่านี้ก็จะเป็นโมฆะในส่วนของดอกเบี้ย คือเรียกดอกเบี้ยไม่ได้ แต่ในส่วนของเงินต้นยังเรียกคืนได้ แต่หากคุณไม่ได้กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้ในสัญญา คุณก็สามารถเรียกได้แค่ ร้อยละ 7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ให้คุณแล้ว นอกจากนี้ หากลูกหนี้ไม่เคยชำระหนี้คุณเลย คุณก็สามารถที่จะเรียกดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้เพียง 5 ปีเท่านั้น
ระยะเวลาการชำระหนี้
ผลของการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้คือ
1. ถ้าคุณกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ไว้
ผลดีก็คือ ระยะเวลาการนับอายุความจะยังไม่เริ่มนับจนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด
ผลเสียก็คือ สิทธิในการเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ยังไม่เริ่ม จนกว่าจะถึงกำหนด นั่นหมายความว่า หากยังไม่ถึงกำหนดเวลาที่ต้องชำระหนี้ คุณยังไม่มีสิทธิไปฟ้องเขานั่นเอง
2. หากว่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ไว้
ผลดีก็คือ คุณสามารถที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้เมื่อไรก็ได้ แต่คุณต้องแจ้งให้ลูกหนี้ทราบเป็นหนังสือและกำหนดระยะเวลาให้เขาก่อน ว่าให้นำมาชำระภายในกี่วัน เช่น 7 วัน หรือ 15 วัน ก็แล้วแต่คุณ หากไม่ชำระให้คุณภายในเวลาที่กำหนด คุณก็สามารถฟ้องร้องได้ทันที
ผลเสียก็คือระยะเวลาในการนับอายุความจะเริ่มนับทันที นั่นก็คือคุณจะต้องฟ้องร้องคดีต่อศาลภายในเวลากำหนดอายุความ มิฉะนั้น คุณจะหมดสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับคดีทันที
เมื่อคุณทราบถึงผลดีผลเสียแล้ว เป็นเรื่องของคุณที่จะพิจารณาว่า จะนำวิธีใดไปใช้ที่คุณคิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวคุณเอง
เมื่อคุณเป็นลูกหนี้
คำว่าลูกหนี้คงไม่มีใครอยากจะเป็น แต่ถ้าจะต้องเป็นจริงๆแล้ว ควรคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองให้ดี เมื่อคุณอยู่ในฐานะของลูกหนี้ คุณมีโอกาสที่จะถูกเอาเปรียบได้ตลอดเวลา ถ้าไม่ยอมเขาก็จะไม่ได้กู้ เมื่อถึงตาจนเข้ายังไงก็ต้องยอม ฉะนั้น หากคุณสามารถที่จะรักษาสิทธิของตนเองได้มากเท่าไร ก็จะเป็นผลดีต่อคุณมากเท่านั้น สิ่งที่คุณจะต้องพึงระวังคือ
ประการแรก เมื่อวันที่คุณไปกู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้ หากเจ้าหนี้ให้คุณทำสัญญา ก่อนที่คุณจะลงลายมือชื่อในสัญญานั้น คุณจะต้องอ่านข้อความในสัญญาให้ดี ว่าจำนวนเงินที่เขียนไว้ตรงกับจำนวนเงินที่คุณกู้หรือเปล่า อย่าปล่อยปละละเลย มิฉะนั้น ถ้าเจ้าหนี้ฟ้องคุณ คุณไม่สามารถที่จะยกเป็นข้อโต้แย้งใดๆได้เลย และอย่าลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่าๆ จะมีผลเสียต่อคุณเหมือนกัน
ประการที่สอง อัตราดอกเบี้ย กฎหมายกำหนดไว้ให้เรียกดอกเบี้ยกันได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่านั้น(ยกเว้นพวกธนาคารหรือสถาบันการเงิน) หากเรียกกันเกินกว่าที่กำหนดไว้ก็จะเป็นโมฆะในส่วนของดอกเบี้ย แต่เงินต้นยังคงอยู่ ซึ่งเรื่องดอกเบี้ยนั้นสามารถใช้ยกขึ้นอ้างเป็นข้อต่อสู้ในศาลได้
ประการที่สาม หากมีกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้กันไว้ คุณมีสิทธิที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ก่อนถึงกำหนดได้ แต่เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิจะเรียกให้คุณชำระก่อนจะถึงกำหนดได้ เว้นเสียแต่ว่าในสัญญาเงินกู้นั้นมีเงื่อนไขหรือข้อสัญญาอื่นๆอีก แล้วระบุไว้ว่าหากคุณผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดให้ถือว่าผิดสัญญาทั้งหมด เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าหนี้ก็มีสิทธิฟ้องคุณได้ก่อนถึงระยะเวลาการชำระหนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ เมื่อไปกู้เงินจากธนาคาร ธนาคารจะให้คุณผ่อนคืนเป็นรายเดือนโดยกำหนดจำนวนเงินไว้ในแต่ละเดือน นี่ก็คือข้อสัญญาหรือเงื่อนไข ซึ่งหากคุณไม่ชำระหนี้ให้เขาตามที่กำหนด ก็ถือว่าคุณผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขกับธนาคารแล้ว ธนาคารมีสิทธิที่จะเรียกเงินคืนทั้งหมดได้ และหากคุณไม่คืน ธนาคารก็จะฟ้องคุณ โดยไม่ต้องไปดูว่าจะถึงกำหนดชำระหนี้เมื่อใด
ประการที่สี่ การคิดดอกเบี้ยทบต้น ไม่สามารถทำได้ ฉะนั้น หากเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยทบต้นกับคุณ คุณไม่จำเป็นต้องจ่าย
ประการที่ห้า เมื่อคุณนำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้แล้ว หากชำระเป็นบางส่วนไม่ชำระทั้งหมด คุณจะต้องให้เจ้าหนี้ออกใบรับเงินหรือใบเสร็จให้แก่คุณด้วย หรืออาจจะให้เจ้าหนี้เขียนว่า "ได้รับชำระหนี้ไว้แล้วเป็นจำนวน........บาท" และลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาเงินกู้เลยก็ได้ และถ้าเกิดว่าคุณพร้อมจะชำระหนี้แล้ว แต่หาเจ้าหนี้ไม่เจอคุณจะทำอย่างไร ทางออกก็คือ คุณสามารถที่จะนำเงินที่เตรียมไว้ชำระหนี้ ไปติดต่อขอวางเงินไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งจะมีอยู่ทุกจังหวัดได้ หากไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหนก็ไปสอบถามข้อมูลได้ที่ศาล แต่คุณต้องไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ก่อนนะ อย่าไปวางไว้เฉยๆ ไม่เช่นนั้นหายแน่ๆ ข้อดีของการวางทรัพย์ก็คือ คุณจะไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดการชำระหนี้ ซึ่งถ้าคุณตกเป็นผู้ผิดนัดการชำระหนี้แล้ว คุณอาจจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มให้แก่เจ้าหนี้อีก ทั้งๆที่คุณไม่ควรจะต้องเสีย และถ้าเป็นเรื่องการขายฝากด้วยแล้ว การชำระหนี้ให้ตรงเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นผลเสียย่อมเกิดกับคุณแน่
การจำนองทรัพย์
การจำนอง เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ผู้ที่ผ่อนบ้านกับธนาคารจะได้รู้จักกับการจำนองเป็นอย่างดี การจำนองก็คือการที่เราเอาทรัพย์สินไปประกันการชำระหนี้นั่นเอง ซึ่งหนี้ส่วนใหญ่จะมาจากเงินกู้ แต่ก็อาจจะเป็นหนี้อื่นๆได้ คือเรียกว่าถ้ามีหนี้ ก็มีการจำนองได้ แต่ถ้าไม่มีหนี้ก็จำนองไม่ได้ ลักษณะที่สำคัญของการจำนองก็คือ ทรัพย์สินที่จำนองต้องเป็น อสังหาริมทรัพย์เท่านั้น จะเป็นสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ นอกจากนี้การจำนองต้องมีการทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พูดง่ายๆก็คือ ต้องไปทำสัญญาจำนองกันที่สำนักงานที่ดินนั่นเอง จะมาทำกันเองไม่ได้ มิเช่นนั้น จะไม่ถือว่าเป็นการจำนอง อาจจะมีบางคนกู้ยืมเงินกัน แล้วเอาโฉนดไปให้เจ้าหนี้ยืดถือไว้เฉยๆ อย่างนี้ไม่เรียกว่าการจำนอง และก็ไม่เข้าข่ายเป็นการจำนำด้วย แต่ถ้าเจ้าหนี้ท่านใดได้ทำไปในลักษณะนี้ก็ไม่ต้องตกใจ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่เป็นการจำนอง หรือจำนำ แต่เจ้าหนี้ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดถือโฉนดนั้นไว้ได้ จนกว่าจะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องมีสัญญากู้อยู่ด้วยนะ
1. การจำนองต้องมีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน
อย่างที่เกริ่นไว้ตอนแรกว่า ถ้าคุณจะทำการจำนองนั้น คุณต้องไปทำกันที่สำนักงานที่ดินเท่านั้น ซึ่งทรัพย์สินที่จะจำนองก็คือ ที่ดิน หรือบ้านพร้อมที่ดิน แต่อาจจะมีทรัพย์สินอื่นที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ ก็อาจสามารถจำนองได้คือ เรือกำปั่นหรือเรือที่มีระวางตั้งแต่หกตันขึ้นไป เรือกลไฟหรือเรือยนต์มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป, แพ, สัตว์พาหนะ, และสังหาริมทรัพย์อื่นๆซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ แต่มีข้อแม้ว่าสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ต้องมีการจดทะเบียนไว้แล้ว
2. ผู้ที่จำนองต้องเป็นเจ้าของทรัพย์เท่านั้น
ถ้าไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่จะจำนองแล้ว ก็จำนองไม่ได้ แต่ว่าหนี้ที่เราเอาทรัพย์สินไปจำนอง จะเป็นหนี้ของใครก็ได้ เช่น นาย ก.เป็นผู้กู้ แต่เราเอาทรัพย์สินของเราไปจำนองหนี้ของนาย ก.ได้ อย่างนี้ได้ หรือแม้ว่าทรัพย์สินนั้นจะมีคนอื่นเป็นเจ้าของร่วมอยู่ด้วยก็สามารถจำนองได้ แต่จำนองในเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น
3. การจะบังคับจำนอง ต้องฟ้องคดีต่อศาล
การบังคับจำนอง เจ้าหนี้จะทำการยึดทรัพย์สินที่จำนองเองไม่ได้ จะต้องมีการส่งจดหมายเพื่อบอกกล่าวให้ลูกนี้นำเงินมาชำระหนี้ โดยกำหนดเวลาให้พอสมควรเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่มาชำระ จึงจะฟ้องร้องคดีต่อศาลแล้วยึดเอาทรัพย์ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ได้ ส่วนใหญ่การส่งจดหมายบอกกล่าวนั้น ถ้าคุณไปจ้างทนายแล้ว ทนายก็จะดำเนินการให้เองในส่วนนี้ เพราะก่อนฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ส่งจดหมายบอกกล่าวหรือไม่ก็ตาม ทนายก็จะดำเนินส่งให้อยู่แล้ว ทั้งนี้ เพราะลูกหนี้อาจจะนำเงินมาชำระให้เลยก็ได้ ซึ่งจะทำให้เรื่องจบลงโดยที่ไม่ต้องฟ้อง เป็นการประหยัดเวลาของทุกฝ่าย
4. ขายทอดตลาดได้เงินเท่าไรก็ชำระหนี้แค่นั้น
อันนี้เป็นข้อกำหนดของกฎหมาย คือว่า ถ้ามีการฟ้องศาลบังคับจำนองกันแล้ว ศาลสั่งให้ยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ถ้าขายแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ เจ้าหนี้ก็ได้รับไปแค่นั้น ตัวอย่าง เป็นหนี้กันอยู่หนึ่งแสนบาท แต่ยึดทรัพย์ขายทอดตลาดได้เงินมาเพียง แปดหมื่นบาท ส่วนที่ขาดไปอีกสองหมื่นบาท เจ้าหนี้จะไปเรียกจากลูกหนี้อีกไม่ได้ เว้นเสียแต่ว่า จะได้มีข้อตกลงยกเว้นข้อกำหนดในเรื่องนี้ไว้ในสัญญา ซึ่งศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า สามารถตกลงยกเว้นข้อกำหนดนี้ได้ เพราะไม่ใช่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งตัวผมเองก็ยังมีความเห็นแย้งในเรื่องนี้อยู่นิดๆ ในลักษณะต่างมุมมอง ซึ่งไม่มีใครผิดใครถูก ส่วนผู้ที่ใช้การยกเว้นข้อกฎหมายข้อนี้มากที่สุดก็คือธนาคาร
5. เจ้าหนี้จำนองมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น
ข้อดีของการจำนองก็คือ หนี้จำนองเป็นหนี้ที่ให้สิทธิเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ถ้าสมมุติว่าลูกหนี้เป็นหนี้อยู่สามรายคือ นายหนึ่ง, นายสอง, และเรา แต่นายหนึ่งเป็นเจ้าหนี้จากเงินกู้ธรรมดาคือไม่มีการจำนองกันไว้ และนายสองเป็นหนี้จากการซื้อขาย ส่วนเราเป็นเจ้าหนี้ที่มีทรัพย์สินจำนองไว้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้จากอะไรก็ตาม ถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้แก่นายหนึ่ง นายหนึ่งอาจจะฟ้องร้องคดีต่อศาลยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาด รวมทั้งอาจจะยึดทรัพย์ที่จำนองด้วย แต่เมื่อขายทรัพย์ที่จำนองแล้ว เราจะมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากเงินที่ขายได้ก่อนจนครบถ้วน ถ้ามีเงินเหลือจึงจะเฉลี่ยไปให้นายหนึ่งกับนายสอง
การขายฝาก
สัญญาขายฝากก็คือการขายนั่นแหละ เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าคุณสามารถซื้อคืนได้ภายในเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งต่างจากการขายเพราะการขายก็คือขายขาดไปเลยไม่มีสิทธิไถ่คืน เว้นแต่ผู้ซื้อจะยอมขายคืน การขายฝากนั้นสามารถทำได้ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ คือไปทำสัญญากันที่สำนักงานที่ดินนั่นแหละ เมื่อขายฝากแล้ว กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ขายฝากจะตกไปอยู่กับผู้ซื้อฝากทันทีที่ขาย จนกว่าจะมีการไถ่ถอน ซึ่งต่างจากการจำนอง การจำนองนั้น กรรมสิทธิ์ยังไม่โอนไปยังผู้รับจำนอง
1. กำหนดเวลาไถ่คืน
กฎหมายกำหนดเวลาไถ่คืนไว้ว่า ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดสิบปีนับตั้งแต่เวลาซื้อขาย ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ มีกำหนดเวลาสามปีนับตั้งแต่เวลาซื้อขาย นั่นหมายความว่าคุณตกลงเวลาไถ่คืนน้อยกว่านี้ได้ แต่มากกว่านี้ไม่ได้ ถ้ากำหนดมากกว่านี้ต้องลดลงมาเหลือเท่าที่กฎหมายกำหนดตามประเภททรัพย์ มิฉะนั้น คุณจะหมดสิทธิไถ่คืนทันที
เมื่อกำหนดเวลาการไถ่คืนแล้ว คุณจะต้องไถ่คืนภายในกำหนดเวลานั้น แต่กฎหมายก็ยังเปิดช่องให้คุณได้ตกลงกันขยายกำหนดเวลาการไถ่คืนได้ โดยคุณจะต้องมีหลักฐานการขยายกำหนดเวลาการไถ่คืนเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ หรือก็คือผู้ซื้อนั่นแหละ
การขยายกำหนดเวลาการไถ่คืนนี้ ถ้าเป็นทรัพย์สินประเภทที่ซื้อขายกัน ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์บางจำพวก (ดูรายละเอียดเรื่องสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนได้ที่หัวข้อการจำนอง) จะต้องนำหลักฐานการการขยายกำหนดเวลาไถ่คืนที่ทำกันไว้นั้น ไปจดทะเบียนไว้ที่สำนักงานที่ดินด้วย มิฉะนั้น หากผู้ที่ซื้อไว้ นำไปขายต่อกับบุคคลภายนอกที่สุจริตและเสียค่าตอบแทน ก็คือบุคคลภายนอกนั้นไม่รู้เรื่องนั่นเอง และบุคคลภายนอกนั้นได้เสียเงินค่าซื้อขายด้วย เราจะมาอ้างข้อกำหนดขยายเวลาที่ทำกันไว้ไม่ได้ สรุปก็คือ ถ้าต้องการขยายเวลาการไถ่คืน คุณต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือไว้ ซึ่งหลักฐานนี้หากผู้ซื้อไว้เกิดเบี้ยวขึ้นมา คุณก็ใช้อ้างกับผู้ซื้อเพื่อขอไถ่คืนได้ แต่ถ้าทรัพย์สินนั้นเป็นอสังหาริมทรัพย์คือที่ดิน และผู้ซื้อเขารู้เรื่องกฎหมายข้อนี้ดี เขาอาจจะขายที่ดินนี้ไปให้กับคนอื่นซะ คุณก็ไถ่คืนไม่ได้แล้ว เพราะหลักฐานนี้ใช้ได้กับผู้ซื้อเท่านั้น หากคุณจะให้ใช้อ้างกับคนอื่นได้ด้วย คุณก็ต้องนำหลักฐานนี้ไปจดทะเบียนที่ที่ดิน
อีกนิดหนึ่งคือ ไม่ว่าคุณจะขยายเวลากำหนดการไถ่คืนกันหรือไม่ก็ตาม ยังไงก็ต้องไม่ให้เกินเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ สิบปีสำหรับอสังหาริมทรัพย์ และสามปีสำหรับสังหาริมทรัพย์
2. จำนวนเงินที่จะต้องไถ่คืน
จำนวนเงินที่จะต้องไถ่คืนนี้ ถ้ากำหนดกันไว้ตอนทำสัญญาก็ให้เป็นไปตามนั้น แต่มีข้อแม้ว่า ถ้าจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้นั้นมีจำนวนสูงกว่าราคาที่ขายฝากเกินร้อยละ 15 ต่อปี ก็ให้ไถ่ได้ในราคาที่ขายฝากรวมกับผลประโยชน์ตอบแทนร้อยละ 15 ต่อปี ทั้งนี้เนื่องจากว่า เมื่อก่อนมีการกำหนดจำนวนเงินไถ่คืนกันสูงมาก โดยผู้ซื้อได้คิดดอกเบี้ยไว้สูงรวมเข้าไปในราคาขายฝาก เมื่อมีการสู้คดีกันแล้ว ศาลได้วินิจฉัยว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาที่ตกลงไถ่ถอนกันไว้ ไม่ใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ย จึงไม่อยู่ในบังคับของอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายที่เรียกได้ไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี จึงได้มีการแก้กฎหมายเมื่อปี 2541 กำหนดเรื่องดังกล่าวไว้ซะ เพื่อไม่ให้พวกเขี้ยวลากดินเอาเปรียบประชาชนตาดำๆกันอีกต่อไป แต่ถ้ามิได้กำหนดจำนวนเงินกันไว้ตอนทำสัญญา ก็ให้ไถ่คืนได้ในราคาที่ขายฝาก
3. ใครเป็นผู้ออกค่าธรรมเนียมในการทำสัญญา
ปกติเมื่อมีการซื้อขายกัน ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำสัญญาจะต้องออกกันคนละครึ่ง สัญญาขายฝากก็เหมือนกันคือ ออกกันคนละครึ่ง เพราะหากว่าไม่มีการไถ่ถอนกันแล้ว ก็เป็นการซื้อขายธรรมดาเท่านั้น แต่ว่าถ้ามีการไถ่ถอนขึ้นมา กฎหมายบอกว่าผู้ไถ่ถอนจะต้องเป็นผู้ออก รวมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมที่ผู้ซื้อได้ออกไปด้วยครึ่งหนึ่งตอนที่ทำสัญญาขายฝากกัน เท่ากับว่าผู้ไถ่ถอนจะต้องจ่ายดังนี้คือ
1. ค่าไถ่ถอน
2. ค่าธรรมเนียมครึ่งหนึ่งที่ผู้ซื้อได้ออกไปตอนทำสัญญาขายฝาก
3. ค่าฤชาธรรมเนียมในการทำการไถ่ถอน
4. หากคุณเตรียมเงินไว้ไถ่ถอนแล้วแต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับทำไงดี
หากคุณเจอปัญหานี้ทำไงดี ในเมื่อกำหนดเวลาไถ่ถอนเป็นเรื่องสำคัญ หากเลยไปก็ไถ่ถอนไม่ได้ กฎหมายให้ทางออกไว้ว่า คุณจะต้องนำเงินที่เตรียมไว้ไถ่ถอน ไปติดต่อขอวางทรัพย์อันเป็นสินไถ่นี้ ที่สำนักงานวางทรัพย์ ภายในกำหนดเวลาที่คุณยังมีสิทธิไถ่ถอนได้ และคุณต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ด้วยว่าคุณสละสิทธิที่จะถอนทรัพย์ที่วางไว้คืน คือวางไว้แล้วก็จะไม่เอาคืน กฎหมายให้ถือว่าคุณได้ไถ่ถอนทรัพย์สินนั้นแล้ว ส่วนผู้ซื้อนั้น เจ้าหน้าที่จะแจ้งให้เองว่าคุณได้ไถ่ถอนทรัพย์สินแล้ว ให้เขามารับ
การฟ้องขับไล่
หากคุณอยู่ในที่ดินของผู้อื่น แล้วเจ้าของเขาไม่ประสงค์จะให้คุณอยู่อีกต่อไป คุณก็มีหน้าที่ที่จะต้องขนย้ายทรัพย์สินต่างๆของคุณออกไปจากที่ของเขา หากคุณไม่ย้ายเจ้าของที่เขาก็จะฟ้องขับไล่คุณออกไป แม้นว่าการอยู่ของคุณจะเป็นการเช่าก็ตาม แต่เมื่อเขาไม่ประสงค์จะให้คุณอยู่ต่อ คุณก็ไม่มีสิทธิที่จะไปบังคับเขา เว้นเสียแต่ว่าการเช่าของคุณนั้นมีหลักฐานเป็นหนังสือ และระบุระยะเวลาการเช่ากันไว้ ซึ่งอาจจะเป็น 1 ปี, 2 ปี, หรือ 3 ปีก็แล้วแต่ เขาจึงยังไม่มีสิทธิมาไล่คุณจนกว่าจะถึงกำหนด
สัญญาเช่านั้นถ้าทำหลักฐานเป็นหนังสือเพียงอย่างเดียว กฎหมายบอกว่าคุณกำหนดระยะเวลาได้มากที่สุดแค่ 3 ปีเท่านั้น ถ้ากำหนดมากกว่านั้น ก็จะฟ้องร้องบังคับให้ปฏิบัติตามสัญญาได้แค่ 3 ปี ส่วนที่เกินบังคับกันไม่ได้ หากว่าคุณอยากจะทำสัญญามากกว่า 3 ปี คุณจะต้องนำหนังสือเช่านั้น ไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน กฎหมายจึงจะบังคับให้คุณ โดยให้คุณกำหนดได้เต็มที่คือไม่เกิน 30 ปี หรือถ้าไม่กำหนดเป็นปี ก็อาจจะกำหนดตลอดอายุของผู้เช่าได้เหมือนกัน สรุปว่า ถ้าทำสัญญาเช่าไม่เกิน 3 ปีทำเป็นหนังสืออย่างเดียวพอ ถ้าเกิน 3 ปี ถึง 30 ปี หรือตลอดอายุของผู้เช่า ต้องจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินด้วย
กรณีที่คุณอยู่โดยไม่ได้เช่าก็ไม่ต้องพูดถึง ถ้าเขาบอกให้คุณย้ายคุณก็ต้องย้าย ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆเลย บางคนมีความเข้าใจผิดๆ ว่าถ้าเจ้าของที่เขาไล่แล้ว จะต้องจ่ายค่าขนย้ายให้ ซึ่งตรงนี้กฎหมายไม่ได้บังคับให้เจ้าของที่ต้องไปจ่าย ผู้อยู่อาศัยก็ไม่มีสิทธิไปเรียกร้อง แต่ที่ผ่านมาเจ้าของที่จะจ่ายให้ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเป็นการตัดความรำคาญ และจำนวนเงินอยู่ในระดับที่พอจะจ่ายได้ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันตลอดมา หากว่าไปเจอเจ้าของที่ไม่ยอมจ่ายคุณก็ไม่ได้อะไรเลย แถมบางที่เขาอาจจะเรียกให้คุณจ่ายด้วย เป็นค่าละเมิดที่คุณไปอยู่ในที่เขาทำให้เขาได้รับความเสียหาย ซึ่งถ้าคุณไม่อยู่ในที่เขา เขาอาจเอาที่นี้ไปให้คนอื่นเช่าได้ ทางที่ดีหากคุณอยากได้ค่ารื้อถอน คุณควรจะพูดกับเจ้าของที่ดีๆ ให้เขาเห็นใจคุณ อย่าไปพูดว่าถ้าไม่จ่ายให้ก็จะไม่ย้ายไป ไม่งั้นผมว่าเขาฟ้องคุณแน่ๆ
ถ้าเกิดคุณโดนฟ้องไปแล้วจะทำยังไง ส่วนมากคดีแบบนี้ไม่มีทางชนะได้เลย เพราะว่าโจทก์พิสูจน์ได้ว่าเป็นเจ้าของที่เท่านั้น โจทก์ก็ชนะแล้ว จำเลยจะมีข้อต่อสู้เพียงอย่างเดียวคือสู้ว่าได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินนั้นแล้ว แต่การครอบครองปรปักษ์นั้น คุณจะต้องอยู่บนที่ดินของเขา โดยความสงบและเปิดเผย มีเจตนาแสดงความเป็นเจ้าของเกิน 10 ปี จึงจะได้การครอบครองปรปักษ์ และถ้าคุณสู้ไปประเด็นนี้ โอกาสที่จะชนะก็น้อยเต็มที เพราะการที่จะพิสูจน์ว่าคุณได้ครอบครองปรปักษ์นั้น เป็นการพิสูจน์ที่ยากมาก นอกจากจะพิสูจน์ได้ชัดเจนจริงๆ ศาลจึงจะพิพากษาให้คุณชนะคดี ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ถูกฟ้องขับไล่ก็คือ ถ้าโจทก์เป็นเจ้าของที่จริงๆแล้ว คุณไม่ต้องไปสู้เขาหรอก คุณไปศาลตามวันที่ศาลนัด เมื่อศาลพิจารณาคดีคุณก็แจ้งต่อศาลว่า จะขอประนีประนอมยอมความกับโจทก์ โดยคุณอาจจะขอเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อหาที่อยู่ใหม่ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่โจทก์ยอมให้คุณ เพราะคดีแบบนี้ส่วนมากแล้วศาลจะพยายามไกล่เกลี่ยให้คุณก่อน ไม่ว่าคุณจะมีทนายหรือไม่ก็ตาม ถ้าไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จศาลจึงจะดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษา ถ้าคุณต่อสู้คดีโดยที่ไม่มีเหตุให้ต่อสู้แล้ว คุณจะมีแต่เสียกับเสียอย่างเดียว ไม่ว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าทนาย และยังเสียเวลาทำมาหากินโดยเปล่าประโยชน์ ฉะนั้น ไม่ว่าคดีอะไรก็ตาม ก่อนที่คุณคิดจะสู้คดี พึงระลึกไว้เสมอว่าคุณมีข้อต่อสู้กับเขาหรือไม่ ถ้าไม่มีก็อย่าไปสู้ดีกว่า เสียเงินเสียเวลาเปล่าๆ แต่ถ้าคุณมีข้อต่อสู้ เช่น มีสัญญาเช่ากันไว้และยังไม่ถึงกำหนดเวลาตามสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธิขับไล่ อย่างนี้ก็สู้คดีไปเถอะ
กฎหมายลิขสิทธิ์
กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยให้ความคุ้มครองแก่งานที่ทำเสร็จแล้วทุกงาน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องแสดงการสงวนลิขสิทธิ์ หรือดำเนินการจดทะเบียนลิขสิทธิ์งานนั้น เป็นการให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ เพียงแต่อยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายดังนี้
งานที่สามารถมีลิขสิทธิ์ได้คือ งานสร้างสรรค์ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนต์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด แต่ทั้งนี้ไม่ครอบคลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์
ส่วนงานที่ไม่สามารถมีลิขสิทธิ์ได้คือ
1.) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสารอันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ 2.) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
3.) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น 4.) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
5.) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตามข้อ 1 ถึง 4 ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐ หรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ ก็คือ ผู้ใดสร้างผู้นั้นเป็นเจ้าของ และอยู่ภายใต้มีเงื่อนไขดังนี้
1.) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรืออยู่ในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา ว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ในงานสร้างสรรค์นั้น หมายถึงว่า ในตลอดระยะเวลาที่สร้างสรรค์งานนั้น ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นลักษณะใดลักษณะคือ เป็นผู้มีสัญชาติไทย หรืออยุ๋ในราชอาณาจักร หรือเป็นผู้มีสัญชาติในประเทศภาคีสมาชิก อยู่ตลอดเวลา หรือเป็นเวลาส่วนใหญ่ ถ้าสร้างงานในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย หรือในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก ย่อมไม่ได้ลิขสิทธิ์นั้นในประเทศไทย
2.) ในกรณีที่มีการโฆษณางานแล้ว ถ้าการโฆษณางานนั้นได้ทำเป็นครั้งแรกในประเทศไทย หรือในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก (กรณีที่สร้างงานในประเทศอื่น) ย่อมได้ลิขสิทธิ์ในประเทศไทย หรือถ้าครั้งแรกไม่ได้โฆษณาในประเทศไทย หรือในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก แต่ว่าได้มีการโฆษณาครั้งต่อมาในประเทศไทย หรือประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกภายในเวลา 30 วัน นับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้มีการโฆษณา ย่อมได้ลิขสิทธิ์ในประเทศไทย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกในประเทศอื่น แต่ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นบุคคลในลักษณะตามข้อ 1 ก็สามารถได้ลิขสิทธิ์ในประเทศไทย
ในกรณีที่กฎหมายบังคับว่าผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าหากว่าผู้สร้างสรรค์งานนั้นเป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นก็ต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยด้วย
มีบางกรณีที่ผู้สร้างสรรค์นั้นเป็นพนักงาน หรือลูกจ้าง พนักงาน หรือลูกจ้างนั้นก็ยังคงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ เว้นเสียแต่ว่าได้มีการตกลงกันไว้ว่าให้เป็นของนายจ้างโดยมีการทำเป็นหนังสือไว้ แต่ถึงแม้ว่าลิขสิทธิ์จะเป็นของพนักงาน หรือลูกจ้าง นายจ้างก็ยังคงมีสิทธิที่จะนำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ผู้สร้างงานได้สร้างขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่นโดยเฉพาะ ลิขสิทธิ์นั้นย่อมตกแก่ผู้ว่าจ้างงาน เว้นแต่ว่าจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น
หากงานใดที่เป็นงานดัดแปลงมาจากงานที่มีลิขสิทธิ์ โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธ์ ให้งานที่ได้ดัดแปลงนั้นเป็นลิขสิทธิ์ของผู้ที่ดัดแปลง แต่ทั้งนี้จะไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงานเดิมที่ถูกดัดแปลง
กรณีที่มีการรวบรวมงานที่มีลิขสิทธิ์หลายๆงานเข้าด้วยกัน โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเป็นการนำเอาข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดซึ่งสามารถอ่าน หรือถ่ายทอดได้โดยอาศัยเครื่องกล หรืออุปกรณ์อื่นใดมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน โดยที่วิธีการลำดับในการนำเสนอนั้นไม่ได้ลอกเลียนงานของคนอื่น ผู้ที่ทำนั้นย่อมได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รวบรวมนั้น แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นใด ของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน
มรดก
เรื่องที่ยุ่งที่สุดคงไม่พ้นเรื่องนี้ บางทีพี่น้องกันยังฆ่ากันได้ ก็เพราะทรัพย์มรดกนี่แหละ ต่างคนก็อยากจะได้ เท่าที่ผมเจอมาส่วนใหญ่ จะเป็นพวกรุ่นหลานๆแล้วที่ยังมาแย่งกันอยู่ ตอนรุ่นลูกนั้นตกลงกันได้ไม่มีปัญหา แต่ยังไงเรื่องมันก็เกิดได้อยู่ดีถ้าไม่รู้จักละเสียบ้าง ฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดก็คือทำอะไรให้มันถูกต้องซะดีกว่า และก็ตกลงอะไรกันไว้ก็ควรทำเป็นหลักฐานไว้หน่อย เพื่อป้องกันการมีปัญหาภายหลัง เริ่มเรื่องกันดีกว่า
ในหัวข้อนี้จะพูดถึงเรื่อง ผู้มีสิทธิรับมรดกและการรับมรดกแทนที่/ การเสียสิทธิในการรับมรดก/ การสละมรดก/ แบบและการเขียนพินัยกรรม/ การเพิกถอนพินัยกรรม/ การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท/ และอายุความ
ผู้มีสิทธิรับมรดกและการรับมรดกแทนที่
เมื่อผู้ตายมีทรัพย์มรดกตกทอดมา บุคคลผู้ที่จะมีสิทธิรับมรดกมีอยู่ด้วยกัน 6 ลำดับชั้นคือ
1.) ผู้สืบสันดาน ก็คือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรที่บิดารับรองแล้ว
2.) บิดามารดา
3.) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
4.) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
5.) ปู่ ย่า ตา ยาย
6.) ลุง ป้า น้า อา นอกจากบุคคลเหล่านี้แล้วบุคคลอื่นไม่มีสิทธิ เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ตายเขียนพินัยกรรมยกให้ใครไว้ ผู้นั้นก็มีสิทธิรับมรดกตามพินัยกรรม ซึ่งอาจจะเป็นลูก หลาน หรือบุคคลอื่นก็ได้
ที่กล่าวมานี่มิใช่ว่าจะได้รับทั้งหมด ยังมีข้อแม้ว่าการรับมรดกนี้จะมีสิทธิรับกันเป็นลำดับชั้น คือ 1, 2, 3, 4, 5, 6 ถ้ามีลำดับไหนอยู่ก็เป็นการตัดชั้นอื่นไป เช่น ถ้ามีลูก คือชั้นที่ 1 อยู่ ก็จะตัดชั้นที่ 2-6 ไปในตัว นี่เป็นตัวอย่างให้พอเข้าใจนะ เพราะจริงๆแล้วกฎหมายให้สิทธิพิเศษแก่บิดามารดาด้วย คือ ถึงแม้จะมีบุตรอยู่ แต่ถ้าบิดามารดายังมีชีวิตอยู่ ก็ให้รับเท่าๆกับบุตร สมมุติว่านายไก่ตาย ก็ดูว่านายไก่มีลูกหรือไม่ พ่อแม่ยังมีชีวิตหรือไม่ ถ้ามีก็รับกันไป แต่ถ้าไม่มีก็ดูในลำดับต่อไปคือพี่น่องร่วมบิดามารดา ถ้าไม่มีอีกก็พี่น้องที่ร่วมแต่เฉพาะบิดาหรือเฉพาะมารดา ตามลำดับไปเรื่อยๆ ส่วนคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย คือได้จดทะเบียนสมรสกัน ก็มีสิทธิได้รับเหมือนกัน แต่จะมีส่วนแบ่งเท่าไรก็ต้องดูว่ามีทายาทชั้นไหนเหลืออยู่บ้าง ถ้าชั้นบุตรยังมีชีวิตอยู่ก็ได้รับเท่าๆกัน แต่ถ้าไม่มีทายาทชั้นบุตรมีแต่บิดามารดา หรือไม่มีชั้นบุตรชั้นบิดามารดามีแต่ชั้นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คู่สมรสจะได้ครึ่งหนึ่ง ถ้าเหลือแต่พี่น้องร่วมแต่บิดาหรือร่วมแต่มารดา หรือเหลือแต่ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ ลุง ป้า น้า อา คู่สมรสจะได้รับ 2 ใน 3 ส่วน
การรับมรดกนั้นมิใช่จะดูว่าลำดับชั้นต้นๆไม่มีแล้วก็ให้ลำดับชั้นอื่นมารับ ต้องดูอีกว่าถ้าไม่มีทายาทชั้นนั้นแล้ว มีผู้รับแทนที่หรือไม่ ถ้ามีก็รับให้แทนที่ เช่น ลูกตายก่อนพ่อแม่ พอพ่อแม่ตายทรัพย์มรดกจะตกแก่หลาน รุ่นหลานจะเข้ามารับมรดกแทนที่ แต่ถ้าไม่มีผู้รับมรดกแทนที่จึงจะให้ลำดับชั้นต่อมาเป็นผู้รับ
การรับมรดกแทนที่นั้น เป็นกรณีที่ผู้มีสิทธิจะรับไม่มีชีวิตอยู่ในขณะที่รับมรดก พูดง่ายๆก็คือตายก่อนเจ้ามรดก เมื่อตายไปแล้วผู้ที่จะรับแทนก็คือบุตรของผู้นั้น แต่มีข้อแม้ว่าผู้ที่มีสิทธิจะได้รับมรดก ที่ตายก่อนเจ้ามรดกนั้น จะต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกตัดมิให้รับมรดก หรือถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายด้วย ถ้าถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตายรับแทนที่ได้ (อ่านรายละเอียดเกี่ยวการถูกตัดและถูกกำจัดมิให้รับมรดกในหัวข้อการเสียสิทธิในการรับมรดก) การจะรับมรดกแทนที่นั้น สิ่งแรกต้องคำนึงถึงก่อนก็คือ ใครมีสิทธิรับบ้าง ก็ดูกันไปตามลำดับชั้น เมื่อมีสิทธิรับแล้วแต่คนๆนั้นตายก่อนเจ้ามรดก ก็ให้ลูกรับไปแทน ถ้าลูกตายก่อนอีกก็ให้ลูกของลูกของลูกรับต่อกันไปจนหมด มีข้อสังเกตุอยู่นิดคือเฉพาะลูกของลูกเท่านั้นภรรยาของลูกนั้นจะไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ลูก
การรับมรดกแทนที่นั้น มีทายาทอยู่ 2 ประเภทที่ทายาทของผู้นั้นไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้คือ ลำดับชั้นที่ 2 กับชั้นที่ 5 คือ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย บุคคลเหล่านี้ถึงแม้จะมีสิทธิรับมรดก แต่ถ้าเกิดตายก่อนเจ้ามรดกแล้ว จะไม่มีการรับมรดกแทนที่กันอีก
การเสียสิทธิในการรับมรดก
การเป็นทายาทนั้นทำให้มีสิทธิได้รับมรดก แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเสียสิทธิได้เหมือนกัน ซึ่งการเสียสิทธิในการรับมรดกนี้มีอยู่ 4 กรณีด้วยกันคือ
1. ถูกกำจัดมิให้รับมรดก
2. ถูกตัดมิให้รับมรดก
3. สละมรดก
4. ไม่ได้เรียกร้องเอาทรัพย์มรดกในอายุความ
ในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงการถูกกำจัดมิให้รับมรดก และการถูกตัดมิให้รับมรดก ส่วนการสละมรดกกับอายุความจะแยกไปอีกหัวเรื่องหนึ่ง
1. การถูกกำจัดมิให้รับมรดก เหตุที่ทายาทจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกได้ มีอยู่ 2 กรณีคือ
ก.) เป็นผู้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก
ข.) เป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร
ก.) เป็นผู้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก การถูกกำจัดตามข้อนี้เป็นการถูกกำจัดเนื่องจากทายาทคนใดคนหนึ่ง ได้ทำการยักย้ายถ่ายเท หรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น เป็นการกระทำหลังจากที่เจ้ามรดกตายแล้ว หมายความว่าตอนเจ้ามรดกตายนั้นยังมีสิทธิรับมรดกอยู่ แต่อาจจะเกิดความโลภจึงได้ยักย้ายถ่ายเททรัพย์มรดกเพื่อที่ตนจะได้มากกว่าคนอื่น ผลก็คือต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก
ข.) เป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร เป็นการกระทำที่อาจจะเกิดก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายก็ได้ มีอยู่ 5 เหตุคือ
(1) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ได้เจตนากระทำหรือพยายามกระทำ ให้เจ้ามรดกหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตาย
ตามเหตุนี้เป็นกรณีที่เกิดก่อนเจ้ามรดกตาย ส่วนกระทำแล้วเจ้ามรดกจะตายหรือไม่ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่ามีเจตนากระทำและเมื่อกระทำแล้ว ถูกฟ้องศาลและศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้วได้กระทำความผิดจริง ก็จะถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่กรณีนี้บุตรสามารถที่จะรับมรดกแทนที่กันได้
(2) ผู้ที่ได้ฟ้องต่อศาลกล่าวหาเจ้ามรดกว่า ได้กระทำความผิดที่มีโทษประหารชีวิต แต่ตนเองกลับถูกฟ้องว่าฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ผู้นั้นได้ฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ ทายาทผู้นั้นก็จะถูกกำจัด แต่บุตรของทายาทผู้นั้นมีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้
(3) ผู้ที่รู้แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียน เพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ
ความตามข้อนี้หมายถึงว่า ต้องได้ความว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา ถ้าเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ตายโดยประมาท หรือโดยไม่เจตนา ย่อมไม่อยู่ในความหมายนี้ และทายาทต้องรู้ว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนาด้วย แต่ไม่ร้องเรียนหรือก็คือไปแจ้งความเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ ทายาทผู้นั้นจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่การกระทำตามข้อนี้ไม่ใช้บังคับกับคน 3 ประเภทคือ 1.) ทายาทที่อายุไม่ถึง 16 ปีบริบูรณ์ 2.) ทายาทที่วิกลจริตไม่สามารถรู้ผิดชอบ 3.) ผู้ที่ฆ่านั้นเป็นสามี ภรรยา พ่อแม่ หรือลูกของตน และการถูกกำจัดตามข้อนี้ ทายาทของผู้ถูกกำจัดไม่สามารถรับมรดกแทนที่ได้
(4) ผู้ที่ฉ้อฉลหรือข่มขู่ให้เจ้ามรดกทำ หรือเพิกถอน หรือเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมแต่บางส่วนหรือทั้งหมดซึ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก หรือไม่ให้กระทำการดังกล่าว
เป็นกรณีที่เจ้ามรดกไม่ได้ตั้งใจทำพินัยกรรม หรือทำไว้แล้วแต่ไม่ได้ตั้งใจจะเพิกถอน แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่ให้ทำหรือให้เพิกถอน หรือในทางกลับกัน เจ้ามรดกตั้งใจจะทำพินัยกรรมหรือตั้งใจจะเพิกถอนพินัยกรรม หรืออาจต้องการเปลี่ยนแปลงพินัยกรรมที่ทำไว้แล้ว แต่ถูกหลอกลวงหรือข่มขู่มิให้ทำการดังกล่าว ไม่ว่าอย่างใดก็ตามล้วนเป็นเรื่องที่ทำให้พินัยกรรมนั้นไม่ได้เป็นไปตามเจตนาอันแท้จริงของเจ้ามรดก ฉะนั้น ผู้ที่กระทำจึงต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก แต่ทายาทของผู้นั้นรับมรดกแทนที่ได้
(5) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรมแต่บางส่วน หรือทั้งหมด
การกระทำตามข้อนี้ไม่ว่าจะกระทำทั้งหมดหรือบางส่วนก็ตาม ก็ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดก ส่วนทายาทของผู้นั้นจะรับมรดกแทนที่ได้หรือไม่ ก็ต้องดูว่ากระทำก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตาย ถ้ากระทำก่อนก็รับมรดกแทนที่ได้ ถ้ากระทำทีหลังก็รับมรดกแทนที่ไม่ได้
การถูกกำจัดนี้หากว่าเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ เจ้ามรดกอาจทำการถอนข้อกำจัดฐานเป็นผู้ไม่สมควรเสียก็ได้โดยให้อภัยเป็นลายลักษณ์อักษร
2. การถูกตัดมิให้รับมรดก อาจจะแสดงออกโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ การแสดงออกโดยชัดแจ้งอาจทำโดยพินัยกรรม เช่น "ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้แก่ลูกคนที่หนึ่งกับลูกคนที่สาม ส่วนลูกคนที่สองกับคนที่สี่ไม่ขอยกทรัพย์สินใดๆให้เป็นอันขาด" เป็นต้น หรืออาจจะทำโดยทำเป็นหนังสือมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ โดยระบุชื่อทายาทโดยชัดแจ้งว่าตัดมิให้รับมรดก ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้แก่นายอำเภอ ตามกฎกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2481 และระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2495
ส่วนการแสดงเจตนาโดยปริยาย ก็คือการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมจำหน่ายมรดกเสียทั้งหมด หมายถึงว่ายกทรัพย์สินให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปทั้งหมดเลย จะต่างกับกรณีแรกซึ่งกรณีแรกทำพินัยกรรมไว้เหมือนกัน แต่จะระบุไว้ด้วยว่านอกจากบุคคลที่ยกให้แล้ว ไม่ให้บุคคลอื่นอีก แต่กรณีหลังนี้ไม่ได้ระบุเอาไว้ ซึ่งการกระทำกรณีหลังมิได้เกิดขึ้นจากการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งของเจ้ามรดก หากแต่กฎหมายไม่ให้สิทธิทายาทโดยธรรมที่จะรับมรดก ซึ่งย่อมทำให้ทายาทผู้นั้นหมดสิทธิในการรับมรดก ตัวอย่างเช่น ก. ทำพินัยกรรมว่าเมื่อตนตายแล้ว ให้ทรัพย์มรดกของตนตกได้แก่ ข. คนเดียว หรืออาจจะเป็นว่า ก. ทำพินัยกรรมว่าตนตายแล้ว ให้ทรัพย์มรดกคือที่ดินที่ตนอาศัยตกได้แก่ ข. ทรัพย์มรดกที่เหลืออยู่ให้เป็นของ ค. ทั้งสิ้น เป็นต้น แต่ถ้าเกิดว่า ก.ทำพินัยกรรมยกที่ดินแปลงหนึ่งให้ ข. รถยนต์หนึ่งคันให้ ค. และแหวนเพชร 1 วงให้ ง. กรณีอย่างนี้ไม่ถือว่าเป็นการตัดโดยปริยาย เพราะขณะที่ ก.ทำพินัยกรรม ก. จะมีทรัพย์สินเพียง 3 อย่างนี้เท่านั้น แต่กว่า ก.จะตายอาจมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้
เมื่อทายาทถูกตัดแล้ว หากเจ้ามรดกเกิดสงสารขึ้นมาก็สามารถถอนการตัดได้ การถอนนั้นถ้าตัดโดยพินัยกรรมก็จะต้องถอนโดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้กับทายาทคนนั้นอย่างเดียว แต่ถ้ากรณีที่ไปทำหนังสือมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ จะถอนโดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้บุคคลนั้น หรือจะถอนโดยการทำหนังสือไปมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ก็ได้
ผลของการถูกตัดมิให้รับมรดกก็คือ ทายาทผู้นั้นไม่มีสิทธิรับมรดกอีกต่อไป และทายาทของผู้ถูกตัดก็ไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วย
การสละมรดก
การสละมรดก เป็นกรณีที่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก แสดงเจตนาที่จะไม่รับมรดกในส่วนที่ตนได้ การแสดงเจตนานั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อเจ้ามรดกได้ตายไปแล้วเท่านั้น หากเจ้ามรดกยังมีชีวิตอยู่ไม่ถือว่าเป็นการแสดงเจตนาสละมรดก และการสละมรดกที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น ผู้สละมรดกต้องไปทำเป็นหนังสือมอบให้ไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็คือนายอำเภอหรือถ้าในกรุงเทพก็คือผู้อำนวยการเขต หรืออาจจะทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างทายาทก็ได้ นอกจากนี้การสละมรดกนั้น จะต้องสละทั้งหมดจะสละเพียงบางส่วนหรือมีเงื่อนไขหรือเงื่อนเวลาไม่ได้ เมื่อสละมรดกแล้วก็จะถอนไม่ได้เช่นเดียวกัน
ผลของการสละมรดก ถ้าสละมรดกในฐานะทายาทโดยธรรม บุตรของผู้นั้นก็เข้ารับมรดกแทนที่ได้ แต่ถ้าอยู่ในฐานะผู้รับพินัยกรรมแล้วสละมรดก บุตรของผู้ที่สละไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่ได้
แบบและการเขียนพินัยกรรม
บุคคลที่จะมีความสามารถทำพินัยกรรมได้ ต้องมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป การเขียนพินัยกรรมสามารถกระทำ 5 แบบคือ
1.) พินัยกรรมแบบธรรมดา
2.) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
3.) พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
4.) พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
5.) พินัยกรรมแบบด้วยวาจา
1.) พินัยกรรมแบบธรรมดา จะต้องทำเป็นหนังสือลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำขึ้น และผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน ซึ่งพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น
การทำในลักษณะนี้จะใช้วิธีเขียนเอาหรือใช้พิมพ์ก็ได้ เพียงแต่ต้องระบุวัน เดือน ปี ที่ทำขึ้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ในพินัยกรรมต่อหน้าพยานสองคนเป็นอย่างน้อย มากกว่าได้แต่น้อยกว่าไม่ได้ และพยานเหล่านั้นก็ต้องลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วย จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้
2.) พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ พินัยกรรมแบบนี้จะคล้ายกับแบบธรรมดา แต่ต่างกันตรงที่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับนั้น ผู้ทำพินัยกรรมต้องเป็นผู้เขียนข้อความเองทั้งหมด ส่วนพินัยกรรมแบบธรรมดาจะพิมพ์ทั้งหมดแล้วผู้ทำพินัยกรรมลงลายมือชื่ออย่างเดียวก็ได้ ส่วนข้อความนั้นก็หมายถึงข้อความที่ระบุว่าจะยกทรัพย์สินให้กับใคร ส่วนข้อความอื่นๆไม่ต้องเขียนเองก็ได้ เนื่องจากเคยมีคำพิพากษาศาล
ฎีกาที่ 1843-1844/2524 วินิจฉัยว่า การที่ผู้ตายเขียนกรอกข้อความในแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจของกรมที่ดิน ก็เป็นพินัยกรรมที่ใช้ได้ ถือเป็นพินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ และข้อแตกต่างอีกอย่างหนึ่งคือ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ไม่จำเป็นต้องมีพยาน ขณะที่พินัยแบบธรรมดาจะขาดพยานไม่ได้ ส่วนวัน เดือน ปีที่ทำนั้น แบบธรรมดาต้องลงในวันที่ทำขึ้นเลย ส่วนแบบเขียนเองทั้งฉบับไม่ได้บังคับว่าจะต้องเขียนในวันที่ทำพินัยกรรม
3.) พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมแบบนี้จะต้องให้นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเป็นผู้ทำให้ เสร็จแล้วผู้ที่ทำพินัยกรรมจะต้องลงลายมือชื่อของตนไว้ และจะต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อไว้ด้วย พยานสองคนนี้ไม่นับรวมถึงนายอำเภอ ฉะนั้นนายอำเภอจะเป็นพยานไม่ได้ และที่สำคัญคือนายอำเภอจะต้องเขียนรับรองว่าพินัยกรรมนี้ได้ทำขึ้นโดยถูกต้อง และจะต้องมีตราตำแหน่งประทับไว้ด้วย
4.) พินัยกรรมแบบเอกสารลับ เป็นพินัยกรรมที่ผู้ทำได้ทำขึ้นโดยจะเขียนหรือพิมพ์ขึ้นเอง หรือผู้อื่นเขียนให้ก็ได้แล้วลงลายมือชื่อ เสร็จแล้วทำการใส่ซองปิดผนึกและลงลายมือชื่อตรงคาบรอบผนึกนั้นด้วย จากนั้นจะต้องเอาไปให้นายอำเภอเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ขณะที่เอาไปให้นายอำเภอนั้น จะต้องนำพยานไปด้วยอีกสองคน ในกรณีที่มีผู้อื่นเขียนให้ จะต้องแจ้งชื่อที่อยู่ของผู้เขียนให้นายอำเภอทราบด้วย เมื่ออยู่ต่อหน้านายอำเภอจะต้องให้ถ้อยคำต่อนายอำเภอและพยานว่า เป็นพินัยกรรมของตน แล้วนายอำเภอจะจดถ้อยคำนั้นไว้บนซองประทับตราตำแหน่งไว้ แล้วให้ผู้ทำพินัยกรรมกับพยานลงลายมือชื่อไว้บนซองนั้น เป็นอันเสร็จสิ้น
5.) พินัยกรรมแบบด้วยวาจา เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นในภาวะฉุกเฉิน ไม่สามารถที่จะทำขึ้นในลักษณะอื่นได้ โดยจะต้องมีพฤติการณ์พิเศษ เช่น ผู้ที่ทำพินัยกรรมตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย อยู่ในเรือที่กำลังจะล่ม ในสถานที่ที่เกิดสงคราม เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ทำพินัยกรรมจะแสดงเจตนาของตนกำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคน ซึ่งอยู่ด้วยกันในขณะนั้นว่า เมื่อตนตายไปแล้วจะยกทรัพย์สินให้ใครบ้าง หลังจากนั้นแล้ว พยานสองคนนั้นจะต้องรีบแสดงตนต่อหน้านายอำเภอโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ พร้อมกับแจ้งข้อความตามที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้, วันเดือนปี, สถานที่ที่ทำพินัยกรรม, และพฤติการณ์พิเศษนั้น ให้แก่นายอำเภอทราบ นายอำเภอจะจดข้อความดังกล่าวไว้ แล้วให้พยานสองคนลงลายมือชื่อ เป็นอันเสร็จสิ้น
การทำพินัยกรรมด้วยวาจานี้ ถ้าหลังจากทำเสร็จแล้ว ผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตายหลังจากนั้น พินัยกรรมก็ใช้บังคับได้ แต่ถ้าผู้ทำพินัยกรรมไม่ตายสามารถมีชีวิตรอดได้ พินัยกรรมจะยังคงบังคับได้ภายใน 1 เดือน นับตั้งแต่ผู้นั้นรอดชีวิตและอยู่ในภาวะที่จะทำพินัยกรรมในแบบอื่นๆได้ ฉบับ
การเพิกถอนพินัยกรรม
การเพิกถอนพินัยกรรม สามารถกระทำได้ 2 ลักษณะคือ
1.) โดยการทำพินัยกรรมขึ้นใหม่ ซึ่งเมื่อทำขึ้นใหม่แล้วก็เท่ากับเป็นการเพิกถอนฉบับเก่าไปในตัว การทำขึ้นใหม่ไม่จำเป็นต้องทำในลักษณะเดิมก็ได้ เพียงแต่จะต้องทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ ถูกต้องตามกำหมายเท่านั้น หรืออาจจะทำลายพินัยกรรมเดิมนั้นเสียก็ได้ หรือ 2.) โดยการโอนทรัพย์ที่มีทั้งหมดไป ซึ่งการโอนนี้จะเป็นการขาย การให้ หรืออย่างใดๆก็ได้ อันเป็นผลให้ทรัพย์สินตามพินัยกรรมสูญไป ก็เท่ากับเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมไปในตัว ข้อสำคัญ การโอนนี้ต้องเกิดจากความตั้งใจของผู้โอนจริงๆ มิใช่เกิดจากการถูกขู่เข็ญจากบุคคลอื่น
การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาท
การแบ่งปันทรัพย์ระหว่างทายาท หากผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ก็แบ่งกันตามพินัยกรรม แต่หากไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และระหว่างทายาทไม่สามารถตกลงกันได้ ก็ต้องแบ่งในส่วนที่เท่าๆกัน การแบ่งเท่าๆกันนี้เป็นการแบ่งในทรัพย์มรดกที่มีอยู่ หลังจากเจ้ามรดกตายแล้วเท่านั้น หากเกิดว่าทายาทคนใดได้ทรัพย์สินมาก่อนที่เจ้ามรดกจะตาย โดยการให้หรือการอย่างอื่น ซึ่งเจ้ามรดกทำให้โดยความเสน่หา ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ จะไม่นับรวมเข้ามาด้วย ทายาทคนนั้นยังมีส่วนแบ่งเท่าๆกันในทรัพย์สินที่เป็นมรดก
การแบ่งปันทรัพย์นั้น อาจจะทำได้โดยทายาทแต่ละคน ต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นสัดเป็นส่วนก็ได้ หรือจะขายทรัพย์นั้นแล้วเอาเงินมาแบ่งปันกันก็ได้ แต่หากว่าทายาทคนใดเห็นว่าตนไม่ได้รับส่วนแบ่ง หรือได้รับน้อยกว่าคนอื่น ทายาทผู้นั้นก็จะต้องไปฟ้องต่อศาลโดยต้องฟ้องคดีภายในอายุความ หากฟ้องเกินอายุความก็จะหมดสิทธิทันที ดูกำหนดอายุความในหัวข้อต่อไป
อายุความ
อายุความในการฟ้องร้องคดีขอแบ่งมรดก จะมีอายุความ 1 ปี นับแต่รู้ว่าเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หรือ 10 ปีนับตั้งแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย หมายความว่าถ้ารู้เมื่อไหร่ก็ตามภายใน 10 ปี ก็ต้องฟ้องขอแบ่งมรดกเสียภายใน 1 ปีนับตั้งแต่ที่รู้ แต่ถ้าไม่รู้เลยว่าเจ้ามรดกตายเป็นเวลาถึง 10 ปี ก็หมดอายุความ
หากเป็นกรณีที่ทายาทยังมิได้แบ่งปันกัน แต่ต่างคนต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินกันเป็นสัดเป็นส่วน อย่างนี้ไม่มีอายุความ ทายาทผู้นั้นสามารถที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกให้ตนได้ตลอด แต่ว่าจะขอแบ่งได้เฉพาะเท่าที่ตนครอบครองเท่านั้น ในส่วนที่ตนไม่ได้ครอบครองก็ต้องอยู่ในอายุความ เท่าที่เจอมาจากการทำคดี ส่วนใหญ่จะอ้างกันในลักษณะนี้คือ เรียกทรัพย์มรดกคืนในส่วนของตน ที่จำเลยได้ครอบครองแทนโจทก์มา กฎหมายเขาอนุญาตให้ผู้ที่ครอบครองทรัพย์มรดก สามารถขอแบ่งมรดกในส่วนที่ตนครอบครองได้โดยไม่มีอายุความ โจทก์ก็อ้างเสียเลยว่าจำเลยนะครอบครองแทนโจทก์ ทั้งๆที่โจทก์ไม่เคยได้เข้าครอบครองทรัพย์สินนั้นเลย ความลำบากก็ตกแก่จำเลยซิ ต้องหาพยานมาพิสูจน์ให้ศาลเห็นให้ได้ว่า จำเลยครอบครองเพื่อจำเลยเอง ไม่ได้ครอบครองแทนโจทก์ หากหาไม่ได้ก็แพ้คดี แล้วที่เจอมานะเป็นเรื่องตั้งแต่เมื่อ 30-40 ปีขึ้นไปแล้ว ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่รับมาก็ตกลงกันได้ พอมาถึงรุ่นลูกเกิดอยากได้ขึ้นมาก็อาศัยวิธีนี้ แล้วจะไปหาพยานที่ไหนมาเล่า พ่อแม่ก็แก่พูดไม่รู้เรื่องแล้วก็มี หรือตายไปแล้วก็มี ฉะนั้น ทางที่ดีควรที่จะทำสัญญากันไว้ด้วยระหว่างทายาทจะเป็นการดีที่สุด หรือไม่เมื่อรับมาแล้วก็จำหน่ายไปซะแล้วไปหาซื้อเอาใหม่ จะได้ไม่มีปัญหากันในรุ่นลูกรุ่นหลาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Custom Search